อาหารในพิธีกรรมและความเชื่อ
อาหารถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ซึ่งนั้นหมายความว่าอาหารคือสิ่งที่มีสำคัญและจำเป็นมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ผู้คนในแต่ละสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างรังสรรค์ คิดค้น และออกแบบอาหารออกมาได้อย่างมากมาย ซึ่งหนึ่งสิ่งที่สะท้อนออกมาจากอาหารก็คือวิถีชีวิตแห่งสังคมนั้น ๆ และในหมู่บ้านรวมจนถึงตำบลเขาคอก จนสามารถเอาอาหารเหล่านี้เข้าใช้ในพิธีกรรมต่างๆ หรือตามประเพณีได้หลายรูปแบบ
หากจะมองถึงสิ่งที่มีอิทธิพลที่ทำให้เกิดอาหารชนิดต่าง ๆ ขึ้นก็มีมากมาย ความอดยาก ความเชื่อ ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และตำนาน ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เปรียบเสมือนไฟที่ถูกจุดขึ้นเพื่อที่จะทำให้เกิดอาหารประเภทต่าง ๆ อันเป็นเหตุให้ในแต่ละสังคมมีลักษณะอาหารที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนั้นก็คือความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมนั่นเอง
ในบทความนี้ผู้เขียนจึงจะขอพูดถึงอิทธิพลที่ทำให้เกิดอาหาร ในภาคอีสานของประเทศไทย ซึ่งจะได้ยกเอาเรื่องความเชื่อและประเพณีที่ทำให้เกิดอาหารต่าง ๆ ขึ้น และอาหารที่เกิดขึ้นเหล่านี้ต่างสะท้อนวิถีชีวิตของคนอีสาน
หากท่านจะมองหาเสน่ห์ของภาคอีสานสิ่งแรกที่ท่านจะได้พบคือประเพณีวัฒนธรรมที่งดงามซึ่งถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สิ่งที่สองซึ่งก็เกิดจากประเพณีวัฒนธรรมก็คืออาหาร เอกลักษณ์อยู่ที่การสะท้อนวิถีแห่งชีวิตของผู้คนในภูมิภาค ถึงขนาดเรียกได้ว่าหากใครได้ทานอาหารอีสานจะไม่ได้แค่รสชาติอาหาร และรสชาติแห่งวัฒนธรรมอีสานเข้าไปด้วย
และอาหารที่ผู้เขียนจะพูดถึงในบทความนี้ เป็นอาหารที่เกิดจากประเพณีบุญประจำเดือนของภาคอีสาน ซึ่งอาหารเหล่านี้ถูกออกแบบขึ้นจากวัตถุดิบที่มีในช่วงเวลานั้น ๆ เป็นหลัก และส่วนใหญ่แล้วอาหารเหล่านี้จะถูกทำขึ้นอย่างประณีต เพื่อใช้ในการถวายพระสงฆ์และประกอบในพิธีกรรมซึ่งเป็นความเชื่อของภาคอีสาน
ข้าวปุ้น (ขนมจีน)
ขนมจีนหรือที่คนอีสานเรียกว่าข้าวปุ้นนั้น ซึ่งคนอีสานก็ได้รับวัฒนธรรมมาจากการที่คนญวนเข้ามาค้าขายในภาคอีสานเป็นจำนวนมาก ขนมจีนจึงแพร่หลายในภาคอีสานและถูกนำมาเป็นอาหารหลัก ในการประกอบงานบุญประเพณีต่าง ๆ การรับประทานจะรับประทานคู่กับน้ำยา ในปัจจุบันมีน้ำยาขนมจีนให้เห็นหลายประเภท ซึ่งผู้คนก็มีการคิดค้นสูตรการทำน้ำยาขนมจีนขึ้นมากมาย แต่ละภูมิภาคก็มีความแตกต่างกัน ตามวัตถุดิบที่มีในชุมชนและภูมิภาคนั้น ๆ ในภาคอีสาน บุญประเพณีที่มีการนำขนมจีนหรือข้าวปุ้นมาใช้มากที่สุด คือ ประเพณี “บุญเดือนสี่ หรือบุญผะเหวด” ซึ่งมีการนำขนมจีนมาใช้สำหรับการถวายพระสงฆ์และการเลี้ยงรับรอง ผู้ที่มาร่วมบุญ จนบางพื้นที่เรียกงานบุญเดือนสี่ว่า “บุญข้าวปุ้น” ซึ่งนั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่า ข้าวปุ้นเป็นอาหารหลักที่บ่งบอกถึงความเป็นบุญเดือนสี่ หรือบุญผะเหวดนั่นเอง ซึ่งสาเหตุที่มีการนำข้าวปุ้น มาเป็นอาหาร ในการรับรองผู้มาทำบุญ เป็นการแสดงให้เห็นถึงสายใยที่มีต่อกันและกัน เพราะขนมจีนมีลักษณะเป็นเส้นซึ่งมีความหมายถึงความผูกพันอันแน่นแฟ้นของคนในชุมชนนั้น ๆ นอกจากบุญเดือนสี่แล้ว ขนมจีนยังถูกนำมาใช้ในงานบุญประเพณีต่างๆ เช่น งานบุญแจกข้าวหรือบุญอุทิศส่วนกุศล งานบวช แต่ก็มีงานที่ไม่อนุญาตให้นำขนมจีนมาใช้ในงานนั่นคืองานศพ ไม่มีเหตุผลแน่ชัดว่าเหตุใดงานศพจึงห้ามไม่ให้นำขนมจีนมาใช้ แต่ทั้งนี้ก็เป็นแนวปฏิบัติที่คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ข้าวต้มมัด
ข้าวต้มมัด ถือเป็นอาหาร ที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถูกใช้แทบทุกประเพณี วิธีการทำข้าวต้มมัด คือการนำเอาข้าวข้าวสารซึ่งเป็นข้าวเหนียว แล้วใส่น้ำลงไปนิด ๆ จากนั้นนำไปห่อในใบตอง ซึ่งในการห่อนี้จะนำกล้วยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญใส่ลงไปด้วย นอกจากนี้อาจจะมีการใส่อย่างอื่นนอกจากกล้วยเช่น มัน ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ซึ่งแล้วแต่ผู้ที่ทำจะรังสรรค์ขึ้นตามใจชอบ หลังจากนั้นนำข้าวต้มที่ห่อได้ ๒ อันมาประกบกันแล้วใช้ตอกมัดเป็นคู่ จากนั้นนำไปต้ม จนสุกก็จะได้ข้าวต้มมัด ที่สามารถนำไปรับประทานได้ ซึ่งข้าวต้มมัดนี้ถูกนำไปใช้ในการประกอบพิธีกรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแทบทุกพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานบุญประเพณีต่าง ๆ งานอุทิศส่วนกุศล งานบวช พิธีทำบุญบ้าน และอื่น ๆ และตำบลเขาคอกก็ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของวัฒนธรรม แม้จะรายล้อมไปด้วยคนในวัฒนธรรมเขมรก็ตาม ทุกคนก็ยังให้ความสำคัญกับอาหารเหล่านี้อยู่เสมอ