ข้าพเจ้านายสุกิจจ์  บุตรเคน ประเภท ประชาชน SC15-2  ตำบลเมืองแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development)

หลักสูตร : การพัฒนาและแปรรูปพืชสมุนไพรแก่นฝางตามภูมิปัญญาท้องถิ่น จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ในเดือนกรกฎาคม 2565 ข้าพเจ้าและผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล และจัดทำข้อมูลแบบฟอร์ม C01 ในการลงพื้นที่ประชุมกับสมาชิกทั้งหมด 10 คน หาแนวทางในการแปรรูปพืชสมุนไพรจากแก่นฝางเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากแนวคิดภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมทำความรู้จักโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) จากอาจารย์พี่เลี้ยงประจำตำบลในโครงการฯ โดยสถานที่ในการประชุมนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก พี่บรรเลง จวงพลงาม หนึ่งในคณะทำงาน พี่บรรเลงเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ เป็นอย่างมากด้วยประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติกว่า 18 ปี บนเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งานที่ครึ้มเย็นร่มรืนไปด้วยไม้นานา

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสตร์และศิลป์ของการดำเนินชีวิตถ่ายทอดสืบต่อกันมาช้านานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นความรู้ ความคิด ความสามารถ ความเจนจัดของกลุ่มชนที่ได้จากประสบการณ์ในสังคมด้วยการปรับตัว และดำรงชีพในสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมกับกลุ่มอื่น จากพื้นที่และสิ่งแวดล้อมอื่นที่ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กันและรับเอาหรือปรับเปลี่ยนมาใช้ประโยชน์ หรือแก้ปัญหาในสิ่งแวดล้อม และบริบททางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นนั้น

แรกนั้นพี่บรรเลงเล่าว่าลงไม้ต้นไว้เมื่อสิบปีก่อนโดยได้นำเอาองค์ความรู้ตามศาสตร์พระราชามาประยุกค์ใช้คือการทำป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ค่อย ๆ ลงมือทำที่ละเล็กทีละน้อยค่อยบ่มเพาะประสบการณ์จนเชี่ยวชาญ สามารถต่อยอดเอาองค์ความรู้ไปเผยแผ่ด้วยการเป็นวิทยากรตามกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ เข้าร่วมโครงการยังสมาร์ทฟาเมอร์ เป็นวิทยากรที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านแสงจันทร์ จากกการเป็นวิทยากรจึงจำเป็นจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมให้มากขึ้นต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กว้างไกลโดยการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 4 ครั้ง ครั้งนี้ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อต้องการต่อยอดจากการทำเกษตรอินทรีย์นำเอา “ฝาง” พืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ลงดินในไร่ของตนเองเมื่อหลายปีก่อนมาแปรรูปซึ่งก็เคยทำมาก่อนแต่ยังไม่ได้เป็นกิจลักษณะเท่าที่ควร พี่บรรเลงเล่าว่า “ส่วนตัวเริ่มให้ความสนใจในการนำฝางมาใช้ประโยชน์เมื่อหลายปีก่อนหลังจากนั้นจึงศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าฝางต้านสามารถต้านเชื้อโรคได้ทุกตัว โดยมีงานวิจัยชัดเจนรองรับ ทำให้เกิดความมั่นใจว่าฝางน่าจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง ต่อมาจึงเริ่มนำฝางมาต้มกินเป็นน้ำดื่ม รวมถึงทำสบู่เพื่อเป็นการทดลองคุณภาพ ปรากฏว่าได้คุณภาพดี” โดยครั้งนี้ได้รับความสนใจจากโครงการฯ จึงเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อที่จะได้เอาองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นบูรณาการกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากแก่นฝางรวมไปจนถึงการเพิ่มมูลค่าด้วยการจำหน่ายผ่านเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่ทางอาจารย์พี่เลี้ยงประจำโครงการจะนำมาช่วยตลอดสามเดือนนับจากนี้

โดยสรุปที่ประชุมมีความเห็นตรงกันในการนำ ฝาง มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ 3 อย่างด้วยกันดังนี้ 1) เครื่องดื่มสมุนไพรจากแก่นฝาง 2) วุ้นสดและวุ้นกรอบจากน้ำแก่นฝาง และ 3) บลัชออน (Blush On) และลิปทินท์ (Lip Tint) จากแก่นฝาง โดยที่จะเริ่มจากเครื่องดื่มสมุนไพรจากแก่นฝางก่อนเพราะสามารถทำได้เลยที่ประชุมจึงสรุปไว้เพื่อกำหนดกิจกรรมครั้งต่อไปคือการร่วมกันพัฒนาเพื่อแปรรูปพืชสมุนไพรแก่นฝางตามภูมิปัญญาท้องถิ่น จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ตามที่โครงการจัดทำเป็นหลักสูตรในการดำเนินงานในครั้งนี้

ในส่วนท้ายของการประชุมเป็นการแลกเปลี่ยนสนทนา โดยพี่บรรเลงเล่าเสริมเกี่ยวกับความเชื่อของ ฝาง ว่า “ต้นฝางเป็นไม้โบราณที่มีความเชื่อในลักษณะของการเป็นไม้ให้คุณ จัดเป็นไม้มงคลในแง่ของการรักษาตามตำรับยาพื้นบ้าน แก่นฝางเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ถูกนำมาใช้งานหลายอย่าง ขนานที่เรียบง่ายที่สุดของคนสมัยก่อนก็คือการต้มแก่นฝางเพื่อบรรเทาอาการฟกช้ำดำเขียว จากนั้นจึงต่อยอดไปสู่ยาขนานอื่นอีกนับไม่ถ้วน อย่างไรก็ดีแก่นฝางนี้มีโทษเช่นกันหากใช้ไม่ถูกต้อง จึงมีข้อห้ามที่เชื่อมโยงกับความเชื่อหลายอย่าง เช่น ผู้หญิงที่ต้องการมีลูกห้ามดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของฝางเด็ดขาดเพราะเด็กจะไม่ยอมมาเกิด ซึ่งภายหลังก็มีข้อมูลมาสนับสนุนว่าฝางมีคุณสมบัติเป็นยาคุมกำเนิด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบางท้องถิ่นที่เชื่อว่าสีแดงเข้มของต้นฝางนั้นเป็นสีประจำตัวเทพผู้มีอำนาจช่วยปกปักษ์คุ้มครองคนในบ้านได้

ส่วนตัวกระผมขอชื่นชม พี่บรรเลง ในการเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ลงมือทำอย่างจริงจังและยังอุทิศตนเพื่อเผยแผ่องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ประชาชนผู้สนใจให้ได้ความรู้อย่างกว้างขวาง “ผู้ทำงานด้วยสองมือ คือผู้ใช้แรงงาน ผู้ทำงานด้วยมือและสมอง คือช่าง ผู้ทำงานด้วยมือ และสมอง และหัวใจ คือศิลปิน”.