โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG(U2T for BCG and Regional Development) หรือโครงการ”มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG”
ตำบลหนองกระทิงเป็นตำบลเก่าแก่ตั้งมาพร้อมกับอำเภอลำปลายมาศ สมัยที่ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอในปี พ.ศ. 2479 ด้านหนึ่งของตำบลนี้แบ่งขึ้นกับอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา และอีกด้านหนึ่งขึ้นกับอำเภอนางรอง จังหวับุรีรัมย์ เดิมทีมีพื้นที่กว้างใหญ่ ปัจจุบันแบ่งเป็น 4 ตำบล คือตำบลผไทรินทร์ ตำบลไทยสามัคคี ตำบลห้วยหิน และตำบลสระแก้ว สำหรับสามตำบลหลังปัจจุบันได้แยกออกไปตั้งเป็นอำเภอหนองหงส์ คำว่า”หนองกระทิง”มาจากสมัยก่อนในพื้นที่นี้มีกระทิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บรรพบุรุษเป็นชาวไทยโคราชและไทยอีสาน ประกอบชีพเกษตรกรรม มีข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ
ตามแนวทางของโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างยั่งยืน ทีมงานประจำโครงการตำบลหนองกระทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ มีความเห็นว่าข้าวโพดเป็นต้นทุนทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในชุมชนสามารถนำมาแปรรูปเป็น”น้ำชาวโพด”โดยพัฒนาให้มีคุณภาพและมาตรฐานเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถสร้างรายได้และส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนให้ยั่งยืนได้ เพราะเป็นการยกระดับมูลค่าในการผลิตสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้นและช่องเพิ่มทางการจำหน่ายได้อีกทางด้วย
น้ำข้าวโพดเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ข้าวโพดเป็นธัญพืชที่สามารถให้พลังงานเทียบเท่ากับข้าว 1 จาน ใครที่ควบคุมน้ำหนักแต่ต้องการพลังงานมากสามารถดื่มน้ำข้าวโพดแทนได้ นอกจากนี้ยังเป็นคาร์โบไฮเดรตแบบเชิงซ้อน คือมีกระบวนการย่อยทำให้ย่อยสลายช้า ทำให้ร่างกายสามารถรับพลังงานได้ต่อเนื่อง อยู่ท้องอิ่มนาน และไม่เป็นการเพิ่มน้ำตาลในเลือดให้สูงอีกด้วย ข้าวโพดมีวิตามินบี เป็นสารอาหารสำคัญในการบำรุงร่างกายให้เจริญเติบโต ผู้หญิงตั้งครรภ์หากรับประทานน้ำข้าวโพดเป็นประจำจะช่วยทำให้ทารกในครรภ์ได้รับสารโฟลิกที่ช่วยบำรุงประสาทและสมองป้องกันการเกิดภาวะพิการของทารก ผู้สูงอายุที่ดื่มน้ำข้าวโพดเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์
ปัจจุบันตำบลหนองกระทิงมีการรวมกลุ่มอาชีพเพื่อทำน้ำข้าวโพดและน้ำสมุนไพรอยู่แล้วแต่ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะสร้างรายได้ให้กับกลุ่มอาชีพได้ ยังขาดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ การตลาด และเทคโนโลยีที่ช่วยในการผลิด อุปสรรคและปัญหาที่พบในด้านการผลิตยังขาดวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตยังไม่เพียงพอ การจัดเก็บสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานเนื่องจากน้ำข้าวโพดต้องเก็บในอุณหภูมิเย็นตลอดเวลา การตลาดยังไม่มีการขยายฐานลูกค้า สามารถจำหน่ายได้แค่ในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง ส่วนบรรจุภัณฑ์ก็เป็นแบบธรรมดาไม่ดึงดูดลูกค้า และยังไม่มีแบรด์นของสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ แนวทางในการแก้ปัญหา ต้องมีการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่มาตรฐานสำหรับการผลิตมีนักวิทยาศาสตร์การอาหารให้คำปรึกษาในด้านการพัฒนาคุณภาพของน้ำโพดให้สามารถเก็บได้นานขึ้นโดยที่ยังคงคุณภาพและความอร่อยไว้ ส่งเสริมด้านการตลาดทั้งออฟไลน์โดยเริ่มที่ชุมชนใกล้เคียงแล้วขยายฐานลูกค้าออกไปและขยายการตลาดในโลกออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายอีกทางหนึ่ง และที่สำคัญต้องมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและแบรนด์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะของน้ำข้าวโพดหนองกระทิง