แนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในตำบลหนองกี่
ที่มาและความสำคัญ
อำเภอหนองกี่ ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดบุรีรัมย์ บนเส้นทางสายโชคชัย- เดชอุดม หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 ห่างจากจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 83 กม. หรือประมาณ 70 กม. จากจังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่อำเภอหนองกี่มีเนื้อที่ 385 ตร.กม.
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงโดยสภาพดินทั่วไปเป็นดินร่วนปนทราย ไม่ค่อยอุ้มน้ำ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวน แต่สภาพปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก แม่น้ำมีเพียงลำน้ำตามธรรมชาติ คือลำไทรโยงและลำจักราชแต่ในหน้าแล้งลำน้ำจะตื้นเขินไม่เพียงพอต่อการเกษตรกรรม ทรัพยากรดิน เป็นดินร่วนปนทรายไม่ค่อยอุ้มน้ำ ทรัพยากรน้ำ อำเภอหนองกี่ขาดแคลนแหล่งน้ำส่วนมากจะใช้ในการเกษตรโดยอาศัยจากน้ำฝน สระ หนอง บ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล
การจัดการน้ำในตำบลหนองกี่
การกักเก็บน้ำฝน การใช้อ่างเก็บน้ำหรือภาชนะอื่นๆ กักเก็บน้ำฝน ทำให้มีน้ำใช้ทั้งชุมชนซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกใหม่อะไรสำหรับคนไทย เรารู้จักการกักเก็บน้ำฝนเพื่อไว้ใช้มาตั้งแต่อดีต ที่สามารถนำมาใช้ในการทำการเกษตร หรืออื่นๆ แต่หากมีการนำมาใช้อาบ ดื่ม หรือใช้ทำอาหาร จะต้องมีการบำบัดให้ถูกสุขลักษณะอนามัยก่อน เพื่อไม่ให้มีผลต่อสุขภาพ
ปลูกพืชใช้น้ำน้อย จากการสำรวจพื้นที่ในชุมชนอำเภอหนองกี่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน ประกอบอาชีพทำนาและทำไร่ ซึ่งขาดรายได้ ประสบปัญหาความขาดทุน แห้งแล้ง และฝนตกไม่ตามฤดูกาล ทำให้เก็บเกี่ยวพืชผลผลิตได้ยาก รายได้ต้นทุนการผลิตตกต่ำ จึงหันมาปลูกมันสำปะหลังที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ มีการเพาะปลูกกันมากใน ช่วงมกราคม – กันยายน ของทุกปี ที่ว่างเว้นจากการทำนา และใช้ประโยชน์พื้นที่ในการปลูกมันสำปะหลังโดยพื้นที่ทั้งหมด 16,601 ไร่ ผลผลิตจะอยู่ที่ 2500 กิโลกรัม/ไร่ จำนวนผลผลิตทั้งหมดต่อปีจะอยู่ที่ 41,502,500 ตัน/ปี
หลังฤดูทำนาลด ความเสี่ยง เสริมรายได้เกษตรกร เช่น พืชตระกูลถั่ว มะละกอ ฟักทอง ฟักเขียว แก้วมังกร มะพร้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น โดยการปลูกพืชใช้น้ำน้อยช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้ค่อนข้างเมื่อเทียบกับข้าว ลดความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำและภัยแล้ง พร้อมลดปัญหาการแย่งชิงน้ำเพื่อการเกษตรด้วยหากปลูกพืชไร่ใช้น้ำน้อยสลับกับการปลูกข้าวจะช่วยอนุรักษ์ดิน และน้ำดีกว่าการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม ช่วยปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ เช่น เศษซากพืชตระกูลถั่วจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ช่วยปรับโครงสร้างของดินและลดการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวได้ ขณะเดียวกันยังช่วยตัดวงจรการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว และรักษาระบบนิเวศน์ในนาข้าวให้สมดุลด้วย
บริหารจัดการแหล่งน้ำในชุมชน การจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การขุดลอกขยายคลองธรรมชาติเดิม เพื่อดักน้ำหลากไหลลงทางน้ำไว้ นำน้ำหลากส่งตามแนวคลอง กักเก็บไว้ตามสระน้ำแก้มลิง หรือบ่อกักเก็บน้ำเพื่อสำรองน้ำในชุมชนทำให้มีน้ำใช้ยามหน้าแล้ง และช่วงฝนทิ้งช่วง
ปลูกฝังการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าแก่คนในชุมชน สร้างจิตสำนึกร่วมกันสู่การปฏิบัติเป็นกิจวัตร ปลูกฝังคุณค่าของน้ำตั้งแต่ระดับในโรงเรียน ไปจนถึงชุมชน ทำให้เกิดวินัยในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยให้การประหยัดน้ำในชุมชนเป็นรูปธรรม
ผลจากการจัดการน้ำในตำบลหนองกี่
หลังจากชุมชนปฏิบัติตามแนวทางการจัดการน้ำทำให้สามารถทำการเกษตรได้ในช่วงที่แห้งแล้งและไม่มองข้ามปัญหา และร่วมกันแก้ไข พัฒนาจากต้นทุนที่มี จะสามารถต่อยอดพัฒนาไปยังด้านอื่นๆ ปัญหาเรื่องน้ำ เป็นหนึ่งในปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ปลูกฝังคุณค่าของน้ำ เมื่อมีการจัดการน้ำที่ดี ปัญหาขาดแคลนน้ำก็จะไม่เกิดขึ้นและประชนในตำบลหนองกี่ยังช่วยกันประหยัดการใช้น้ำในครัวเรือนเพื่อการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน