ข้าพเจ้า นางสาวสุจิตรา มะโน ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลบัวทอง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
หลักสูตร : AG07-1 โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิด ด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)
วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2565 อาจารย์ประจำตำบลได้นัดหมายทีมงานตำบลศรีสว่าง ตำบลบ้านยาง และตำบลบัวทอง ร่วมประชุมออนไลน์ชี้แจงกรอบ และแนวทางการทำงาน โดยมีอาจารย์เลิศภูมิ จันทรเพ็ญกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา มุสิกา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนิดา สำราญรัมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นผู้ชี้แจงปฏิทินการดำเนินงานสำหรับผู้ปฏิบัติงานโครงการ U2T for BCG ชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งปรึกษาหารือ วางแผนการปฏิบัติงานในพื้นที่ตำบลบัวทอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงศักยภาพของชุมชน กลุ่มอาชีพ และผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น น่าสนใจ ในการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในตำบล ผลิตภัณฑ์ที่เลือกมาพัฒนา ได้แก่ การทอเสื่อกก ข้าวเกรียบเห็ดนางฟ้า ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำตำบลให้จัดทำข้อมูลช่วยกันเสนอความคิดเห็นในแบบฟอร์ม C-01 ข้อเสนอโครงการเพื่อเสนออนุมัติโครงการ
วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2565 อาจารย์ประจำตำบลได้นัดหมายทีมงานประชุมออนไลน์ ชี้แจงข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานและปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อไป มีการแนะนำสมาชิกให้ทำความเข้าใจกับบริบทของงานโดยมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อกระจายงานในส่วนต่างๆ
วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2565 ผู้ปฏิบัติงานได้นัดหมายลงพื้นที่ ณ ศาลากลางหมู่บ้านศรีอุดม สำรวจข้อมูลการทอเสื่อกก เพื่อถ่ายทำคลิปวิดิโอสั้นแนะนำบริบทของตำบลบัวทอง เพื่อรายงานการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานตำบลบัวทองประจำเดือนกรกฎาคม จากการดำเนินการพบว่าการให้ความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงานทั้งกลุ่มของบัณฑิตจบใหม่และประชาชนทั่วไปได้ให้ความร่วมมือในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานตามที่นัดหมายไว้
บทสรุปภาพรวมของการดำเนินงานในระยะแรก พบว่า จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลบริบทตำบลบัวทองทำให้ทราบถึงบริบทของชุมชน การใช้ชีวิตของประชาชนแต่ละชุมชน ทราบถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมของแต่ละชุมชนที่มีความหลากหลาย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในชุมชน ได้แก่ การทอเสื่อกกเป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ที่นำเอาต้นกก ต้นไหล หรือต้นผือ ก็มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว มาสอย(กรีดแบ่งให้เป็นเส้นบางๆ) ผึ่งแดดให้แห้งแล้วนำไปย้อมสีตามที่ต้องการ จากนั้นนำไปทอเป็นผืนๆเพื่อนำไปใช้งาน ปัญหาที่พบคือขาดการประชาสัมพันธ์และขาดการส่งเสริมจัดจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์และไม่สามารถใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ และ ข้าวเกรียบเห็ดนางฟ้าและเห็ดหอม ปัจจุบันชาวบ้านเพาะปลูกเห็ดนางฟ้าเป็นจำนวนมากและได้นำผลผลิตออกจำหน่ายซึ่งได้ราคาไม่ดีและเก็บไว้ได้ไม่นาน ในปัจจุบันมีข้าวเกรียบปลา ข้าวเกรียบกุ้ง จึงเพิ่มมูลค่าเห็ดนางฟ้าโดยนำเห็ดนางฟ้ามาทำเป็นข้าวเกรียบ เป็นการถนอมอาหารเพื่อให้สามารถเก็บไว้ได้นานและเพิ่มมูลค่าให้กับเห็ดนางฟ้าได้มากขึ้น