ข้าพเจ้านางสาวสกาวเดือน จวงการ ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิต ตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิทด้วยเศรษฐกิจ BCG
จากการประชุมหารือกับชาวบ้านในชุมชนตำบลอิสาณเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จึงทำให้ทราบถึงความเป็นมาและกระบวนการการผลิตไข่เค็มในเบื้องต้น ได้ทราบถึงกระบวนการจัดการด้านการผลิต ราคาการขายในท้องถิ่น ความพร้อมและอุปสรรคต่าง ๆ ที่พบเจอในการทำผลิตภัณฑ์ ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานและอาจารย์ที่ปรึกษาประจำตำบลจึงเห็นถึงความพร้อมและปัญหาที่พบที่ยังทำให้ชาวบ้านในชุมชนตำบลอิสาณไม่สามารถพัฒนาได้ จึงได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการต่อยอดการทำไข่เค็ม ซึ่งชาวบ้านในชุมชนตำบลอิสาณให้ความสนใจเป็นอย่างมากที่จะช่วยพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อหารายได้เสริมจากการทำผลิตภัณฑ์และเป็นแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยยกระดับจากไข่เค็มธรรมดาให้เป็นไข่เค็มสมุนไพรที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางที่หลากหลายให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นและที่สำคัญคือการยกระดับสินค้านี้จะช่วยให้มีช่องทางการตลาดที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายแบบ offline และ online ดั้งนั้นทางผู้ปฏิบัติงานและชาวบ้านในชุมชนตำบลอิสาณจึงร่วมมือกันที่จะพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ไข่เค็มด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน 3 ชนิด ได้แก่ ใบเตย ขมิ้น และอัญชัน
และในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 น. ได้มีการจัดการอบรมในหัวข้อเรื่อง “ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG ” ในการจัดการอบรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 50 ท่าน โดยมี คุณธัญญธร ไชยโยธา นักพัฒนาชุมชนชำนาญการรักษาการผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม และ รศ.ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นผู้กล่าวเปิดการอบรม มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธีรา สุนทรารักษ์ เป็นวิทยากร มีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำตำบล 2 ท่าน คือ อาจารย์ภูริษา วัชเรนทร์วงศ์ และ อาจารย์เฉลิมเกียรติ เย็นเพชร มีผู้ปฏิบัติงานทั้งบัณฑิตและประชาชนโครงการ U2T for BCG 10 ท่าน และชาวบ้านทั้ง 18 หมู่บ้าน 45 ท่าน
โดยผู้ปฏิบัติงานได้อบรมเชิงปฏิบัติการการทำไข่เค็มอิสาณแฟนซีและได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการทำไข่เค็มของผู้ที่เข้ารับการอบรมจากการอบรมกับชาวบ้านทั้ง 18 หมู่บ้าน อาจารย์ที่ปรึกษาประจำตำบลได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการ U2T for BCG และชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะทำการต่อยอด ดังนั้นทางผู้ปฏิบัติงานและอาจารย์ที่ปรึกษาประจำตำบลจึงได้สอบถามเกี่ยวกับกระบวนการทำไข่เค็มอิสาณแฟนซี รวมถึงการจัดการในด้านต่าง ๆ ทั้งวัตถุดิบในการทำไข่เค็ม การตลาด ราคาขายตามท้องถิ่น ความพร้อมในการทำไข่เค็มและอุปสรรคที่พบเจอ ความต้องการที่จะพัฒนาสินค้าเพื่อยกระดับให้มีความน่าสนใจแก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น จากการสอบถามชาวบ้านหมู่ที่ 3 พบว่า มีความพร้อมในการต่อยอดพัฒนาการทำไข่เค็มอิสาณ เนื่องจากกลุ่มสตรีในหมู่ที่ 3 บ้านโคกหัวช้าง ตำบลอิสาณ เดิมได้มีการทำไข่เค็มใบเตยอยู่แล้วจึงมีความพร้อมและความสนใจที่จะต่อยอดและพัฒนาไข่เค็มให้มีความหลากหลายเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน
“ ไข่เค็มอิสาณแฟนซี ”
โดยสูตร การพอกไข่เค็ม ของ ตำบลอิสาณนั้น จะได้ไข่เค็มที่มีประโยชน์จากสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดนั้นก็คือ ใบเตย ขมิ้น อัญชัน และยังได้สีสวย ๆ จากสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ที่ธรรมชาติให้มาเป็นของแถมอีกด้วย รับรองเลยว่าการพอกไข่เค็ม ในครั้งนี้ จะได้ไข่เค็มที่มีความเค็มกำลังดี ไม่เค็มจัดจนต้องหยีตา จะนำไปยำ ต้มทานคู่กับข้าวสวย หรือข้าวต้มก็อร่อยแน่นอน ถ้าพร้อมแล้วไปเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมแล้วลงมือทำไข่เค็มกันเลย
วัตถุดิบ
- ไข่เป็ด 30 ฟอง
- ดินสอพอง 1 กิโลกรัม
- เกลือ 1 กิโลกรัม
- สมุนไพร
– ใบเตย
– ขมิ้น
– อัญชัน
อุปกรณ์
- ถาด ชามผสม
- ครก – สาก
- เครื่องปั่น
- ถ้วยตวง
- ถุงมือ
- พลาสติกแรป
- มีด เขียง
วิธีการทำไข่เค็ม
1.นำไข่เค็มมาทำความสะอาดจากนั้นผึ่งทิ้งไว้ให้เปลือกแห้ง
2.นำเกลือมาตำให้ละเอียดแล้วใส่ชามพักไว้
3.นำดินสอพองมาตำให้ละเอียดแล้วใส่ชามพักไว้
4.นำสมุนไพรของแต่ละชนิดมาหั่นและตำพอหยาบหรือนำไปปั่นโดยใช้เครื่องปั่นแทนได้เพื่อให้ได้เนื้อสมุนไพร
5.ผสมส่วนผสมระหว่าง ดินสอพอง เนื้อสมุนไพร และเกลือ ใช้ถ้วยตวงอัตราส่วน 3 : 3 : 1 ผสมให้เข้ากันและใส่น้ำในการผสมส่วนผสมให้ได้ลักษณะเป็นเนื้อโคลน
6.นำไข่เป็ดมาพอกกับดินสอพองให้ทั่วไข่เป็ดทั้งใบ ไม่หนาไม่บางจนเกินไป
7.นำไข่ที่พอกแล้ว มาหุ้มด้วยพลาสติกแรป เพื่อรักษารูปทรงของไข่เค็มให้กลมสวยและรสชาติที่อร่อย
8.วางไข่เค็มไว้ในอุณหภูมิห้องปกติจนถึงระยะเวลาที่พอเหมาะต่อความต้องการ
ระยะเวลาการพอก
- ระยะเวลาพอก 3 วัน สำหรับนำไปทอด
- ระยะเวลาพอก 7 วัน สำหรับนำไปต้ม