ข้าพเจ้า นางสาวสุวัจนี โพธิ์ชัย  บัณฑิต ผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองโบสถ์

โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T For BCG เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้บัณฑิตและประชาชนผู้ว่างงานได้เข้ามาพัฒนาชุนชนบ้านเกิดของตนเอง ภายหลังจากเหตุการณ์โรคระบาดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจรากฐานของประเทศ ทั้งนี้เพราะคำนึงถึงรากฐานของสังคมตั้งแต่ในระดับชุมชน จึงได้มีการเปิดรับสมัครคนที่ต้องการที่จะเข้าร่วมการพัฒนาครั้งนี้ ภายใต้การดูแลของ อว.  โดยได้มีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 90 แห่ง และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมทีมในการปฏิบัติงานในครั้งนี้ด้วย

ข้าพเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติงานประจำตำบลหนองโบสถ์ โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ เป็นมหาวิทยาลัยผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน และดูแลการประสานงานต่างๆด้วย

วันที่ 25 กรกฎาคม อาจารย์ประจำโครงการได้แจ้งภารกิจงานที่ทุกคนจะต้องร่วมกันทำ จึงได้มีการแบ่งทีม โดยแยกทีมเพื่อให้หาข้อมูลและหารือร่วมกันออกเป็น 2 ทีม โดยในแต่ละทีม ต้องมีผู้รู้ในด้านนั้นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีการศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติมได้แน่นขึ้นและกำหนดให้นำมาเสนอเป็นวาระการประชุมในวันที่ 1 สิงหาคม 65 เพื่อที่ทางทีมที่ปรึกษาจะได้วิเคราะห์และวางแผนในการพัฒนาต่อไป

ดังนี้จึงแจ้งให้แต่ละทีมศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ถึงความเป็นมาของการจัดทำผลิตภัณฑ์ ศึกษาถึงวัตถุดิบในการจัดทำ มีกระบวนการในการผลิตอย่างไร สมาชิกในแต่ละทีมที่ศึกษาผลิตภัณฑ์นั้นๆโดยเฉพาะมีใครบ้าง สิ่งที่ทีมต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์คืออะไร ให้ยกมาเป็นประเด็นแล้วนำมาอธิบายเพิ่มเติมในวันประชุม โดยต้องนำประเด็นที่ผู้พัฒนาต้องการพัฒนามาหาแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไร มีวิธีการและมีงบประมาณที่คาดว่าจะใช้อย่างไรบ้าง ส่วนการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงก็ยังต้องร่วมด้วยกันเป็นทีมใหญ่เช่นเดิม

ในวันที่ 30 กรกฎาคม มีการแจ้งให้เข้าร่วมการประชุมกับทางมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการตอบปัญหาการใช้งาน TCD เบื้องต้น สำหรับผู้ปฏิบัติงานในแต่ละตำบลโดย จำกัดตัวแทนตำบลละ 2 ท่าน ทางตำบลหนองโบสถ์ได้ส่งตัวแทนเป็นบัณฑิต 1ท่าน คือ นางสาวบุหลัน จันทร์สุขและประชาชน 1 ท่าน คือ นางสาวสมส่วน เรืองศรีชาติ เข้าร่วมประชุมเป็นที่เรียบร้อย

 

วันที่ 1 สิงหาคม 65 ข้าพเจ้าได้เข้าประชุมกับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานทุกคนรวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการทั้ง 2 ท่าน ได้ร่วมหารือถึงประเด็นที่อาจารย์ได้แจ้งแก่ผู้ปฏิบัติงานให้ไปศึกษาดูข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ 2 อย่างที่ทางกลุ่มได้ นำเสนอกับทาง อว. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากที่ประชุมหารือได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันแล้ว แต่ยังมีประเด็นที่ทางที่ปรึกษาต้องหารให้ค้นคว้าเพิ่มเติมในหลายประเด็น  ในทีมแรกผลิตภัณฑ์ที่ต้องการพัฒนาคือหมวกสานจากต้นไหลมีประเด็นดังนี้

1.ค้นหาข้อมูลวัตถุดิบของเปลือกไม้หนึ่งค้นหาข้อมูลวัตถุดิบของเปลือกไม้ที่จะนำมาย้อมสีธรรมชาติว่าในชุมชนมีวัตถุดิบหรือไม่แล้วถ้าไม่มีทางกลุ่มผู้พัฒนาจะต้องดำเนินการเช่นไร

2.ค้นหาแนวทางในการป้องกันความชื้นหรือการขึ้นราหากมีการนำวัสดุธรรมชาติมาตกแต่งกับหมวกจะแก้ปัญหาอย่างไร

3.วัสดุที่ต้องนำมาตกแต่ง เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าลายไทย ในชุมชนมีกลุ่มทอผ้าหรือไม่

  1. การคำนวณต้นทุนของหมวกในการดัดแปลงมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่และวางแผนจะจำหน่ายราคาเท่าใด
  2. ต้นไหลที่มีอยู่ในชุมชนเพียงพอหรือไม่ถ้าไม่มีสามารถสำรองได้จากที่ใด

ส่วนในทีมของปุ๋ยหมักใบไม้ ประเด็นที่จะต้องเพิ่มเติมมีดังนี้คือ

1.วัสดุที่จะนำมาใช้ในการทำปุ๋ยหมักสามารถหาได้ในชุมชนหรือไม่หากไม่มีจะจัดซื้ออย่างใด

2.ต้องสอบถามผู้ผลิตปุ๋ยว่าต้องการใช้ปุ๋ยหมักแบบกระสอบใหญ่หรือต้องการทำปุ๋ยเป็นถุงเล็กเพื่อจำหน่ายเป็นแบบปลีกสำหรับไม้ดอก ไม้ประดับ เพราะขนาดถุงปุ๋ยที่บรรจุก็มีขนาดที่แตกต่างกันออกไป

3.ค้นคว้าสรรพคุณเพิ่มเติมของใบไม้ที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มสรรพคุณของธาตุอาหารของปุ๋ย

4.การคำนวณต้นทุนของปุ๋ย รวมทั้งวัสดุที่ใส่เพิ่มกับใบไม้ว่ามีต้นทุนเท่าไหร่และจะจำหน่ายในราคาเท่าไหร่

ทั้งนี้โดยสรุป จากการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ให้นำประเด็นที่แจ้งเพิ่มเติม มาประชุมอีกครั้งในวันที่ 7 สิงหาคม 65

วันที่ 2 สิงหาคม หลังจากมีการประชุมทีมครั้งแรก ทางทีมหมวกได้นำประเด็นเพิ่มเติมที่ต้องการศึกษา มาปรึกษาในทีมและลงพื้นที่ในทันที ทั้งนี้เพื่อสอบถามคนในชุมชนถึงความพร้อมของวัตถุดิบที่ต้องพัฒนา

 

ในวันที่ 4 สิงหาคม ทางทีมปุ๋ยก็ได้มีการนัดหมายลงพื้นที่เพื่อสำรวจ และสอบถามคนในชุมชนเพิ่มเติมเช่นกัน

 อีกทั้งในระหว่างนี้ ก็ได้มีการอบรมให้ความรู้ทางบทเรียนออนไลน์เพิ่มเติมในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นบทเรียนที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจโดย เป็นเรื่องของการนำเสนอ ในบทเรียน ต่างๆมีดังต่อไปนี้ คือ
  • หลักพื้นฐานในการสื่อสารและการนำเสนอ
  • ความสำคัญของผู้พูดและผู้ฟัง
  • การสรุปเรื่องราวด้วย StoryLine CanVas
  • การวางแผนและเตรียมตัวในการนำเสนอ
  • เทคนิคการออกแบบสไลด์ในการนำเสนอ
  • เทคนิคการนำเสนองานต่อหน้าผู้อื่น
  • มีตัวอย่างการทำสไลด์และการนำเสนอให้ดู

ในวันที่ 7 สิงหาคม 65  มีการนำเสนอประเด็น จากประเด็นเพิ่มเติมของแผนปฏิบัติงานเพิ่มเติมจากครั้งก่อน ที่ทางอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการได้แจ้งไว้ ในการประชุมครั้งนี้หลังจากได้ลงพื้นที่ ทางทีมจึงได้นำประเด็นมาสรุป และแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม  ในตอนท้ายอาจารย์ได้แจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานเตรียมวัตถุดิบต่างๆ พร้อมทั้งสถานที่ให้พร้อม ก่อนที่จะลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติจริง

ในวันที่ 8 สิงหาคม ได้ประชุมออนไลน์ร่วมกันของผู้ปฏิบัติงาน ในการร่วมกันทำแผนการพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อเสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษาให้ตรวจทาน ก่อนจะนำลงระบบ PBM ต่อไปในวันที่ 10 (C03)

วันที่ 12 สิงหาคม ทางทีมตำบลหนองโบสถ์มีการลงพื้นที่ปฏิบัติงานในทันที โดยในวันนี้ทางทีมทุกคนได้ร่วมกันทำปุ๋ยหมักใบไม้ ได้ใช้สถานที่ทำ คือที่สวนป่าของป้าไว หรือคุณป้าทองม้วน รังพงษ์ ได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่อย่างดี นำโดยทีมของผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้าน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนผสมต่างๆในการทำครั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานได้สรรหาจัดเตรียมไว้ครบแล้ว ประกอบไปด้วย แกลบ แกลบดำ รำละเอียด ขุยมะพร้าว ขี้หมู ขี้ไก่ ขี้วัว หัวเชื้อจุลินทรีย์ กากน้ำตาล และใช้ใบไม้เป็นส่วนผสมหลัก จากนี้อีก 15 วันโดยประมาณจะมีการมาติดตามผลอีกครั้งว่า ปุ๋ยหมักที่ทดลองทำครั้งนี้ ใช้ได้จริงหรือไม่

 

ในวันที่ 13 สิงหาคม ทางทีมตำบลหนองโบสถ์ นำโดยอาจารย์เคมี มาเป็นวิทยากรและได้รับความร่วมมือจากทางชุมชนกลุ่มหมวกสาน ในการลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อการย้อมสีต้นไหล โดยเป็นการย้อมสีจากธรรมชาติ โดยมีวัตถุดิบที่ทางผู้ปฏิบัติงานได้สรรหาและจัดเตรียมไว้เรียบร้อยแล้วก่อนที่จะเริ่มการย้อม

โดยวัตถุดิบต่างๆนำมาจากชุมชน เช่น เปลือกมะหาด แก่นของต้นขนุน แก่นของต้นฝาง ใบของต้นขี้เหล็ก และเหง้าของต้นกล้วย โดยจะนำมาต้มให้ออกสีก่อนย้อม ทั้งนี้ยังต้องมีการต้มกากกาแฟเพื่อแช่ต้นไหล แทนต้นหูกวางเพื่อเป็นสารแทนนิน ซึ่งช่วยในการย้อมติดของสี เพราะการย้อมสีธรรมชาติ จะมีปฏิกิริยาการติดสียากกว่าการย้อมสีโดยใช้สีเคมีเป็นหลัก อีกทั้งสีธรรมชาติ จะยากต่อการควบคุม เพราะสีที่ออกมาอาจได้ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ย้อม

 

โดยสรุป

ในการปฏิบัติงานเดือนสิงหาคม เป็นการนำเสนอแผนการดำเนินงานแก่อาจารย์ที่ปรึกษา  และเป็นการลงพื้นที่เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม ให้พร้อมแก่การจัดจำหน่าย รวมถึงเป็นการส่งต่อความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ในมุมมองที่กว้างขึ้นเรื่องธุรกิจและการตลาดเบื้องต้นแก่คนในชุมชนด้วย