ข้าพเจ้านายณรงค์ฤทธิ์ ซุยเพ็ง ผู้ได้รับการจ้างงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ทำงานในตำบลลำปลายมาศ จากการประชุมใน Google meet ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ท่านอาจารย์ ดร. วิษณุ ปัญญายงค์ ท่านได้แนะนำการปฏิบัติงานต่างๆ ได้แก่ เรื่องการลงเวลา ผู้ปฏิบัติงานจะต้องลงเวลาทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนการอบรมออนไลน์ควรเข้าอบรมให้ครบหลักสูตร BCG – LEARNING ท่านอาจารย์ได้แนะนำ ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าประกวด HACKATHON มี 5 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีส่วนผสมของพืชสมุนไพรที่อยู่ในท้องถิ่นที่ได้ปฏิบัติงาน อาจารย์ได้มอบหมายงานให้ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่หาข้อมูลพืชสมุนไพร ว่าในชุมชนใดมีสมุนไพรอะไรบ้าง เรียงลำดับจากมากไปน้อย เพื่อที่จะนำข้อมูลไปใส่ใน slide ที่ทีมงานของข้าพเจ้าได้จัดทำ เพื่อส่งไปประกวด HACKATHON ต่อไป
วันที่ 6 – 7 กรกฎาคม 2565 ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่ในตำบลลำปลายมาศ เพื่อที่จะเก็บข้อมูลพืชสมุนไพร มีชุมชนบ้านสวนใหญ่ หมู่ที่ 8 ผู้ที่ให้ความร่วมมือ ชุมชนบ้านประชาสรรค์ หมู่ที่ 6 ชุมชนบ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ที่ 5 ที่ได้ไปเก็บข้อมูล ซึ่งได้ทราบว่าบางครัวเรือนปลูกพืชสมุนไพรมากมายหลายชนิด แต่บางครัวเรือนก็ปลูกสมุนไพรค่อนข้างน้อยมาก
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ช่วงเวลา 13 : 30 น. ได้เข้าอบรมผ่านช่องทาง Facebook live เกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บและกำกับตรวจข้อมูล TCD สำหรับการลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ตำบลที่ผู้ถูกจ้างงานได้รับผิดชอบ โดยจัดเก็บผ่านแอพพลิเคชัน U2T ที่เพิ่มจากเว็บไซต์ไปยังหน้าจอโฮมของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้สะดวกในการจัดเก็บรวมรวมข้อมูล
ต่อมาข้าพเจ้าและทีมงานโครงการ U2T ได้เข้าประชุมออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชัน Google meet เพื่อรับฟังรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้า โดยท่านอาจารย์ ดร.วิษณุ ปัญญายงค์ เป็นผู้ดำเนินการประชุม รายละเอียดมีดังนี้ อาจารย์ได้ลดผลิตภัณฑ์จาก 5 ผลิตภัณฑ์ เหลือ 3 ผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งบอกสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ทั้งสาม และอาจารย์ได้มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานรับหน้าที่ไปเก็บข้อมูลภายในชุมชนที่ตนเองได้รับมอบหมาย และข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้เก็บข้อมูลในชุมชนบ้านผักกาดหญ้า หมู่ที่ 4 และต้องเก็บข้อมูลภายในตำบลลำปลายมาศรวมกับผู้ร่วมงานภายในตำบลให้ได้ 500 records ขึ้นไป