“ประเพณีการพล็องของชาวบ้านเขว้า”

พรสินี ทิมมุกดา

 

“พล็อง” เป็นคำที่ใช้ทับศัพท์จากภาษาเขมร เป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจำเพาะบุคคล คือญาติพี่น้องต้องการจะทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับบิดามารดา หรือบรรพบุรุษของตนที่ล่วงลับไปแล้ว จะมารับเอาสิ่งของที่ตนที่เหล่าลูกหลานนำมาทำบุญให้ในวันนี้ พิธีกรรมนี้เป็นจารีตประเพณีที่สืบทอดต่อกันมานานของชาวหมู่บ้านเขว้า ตำบลปังกู  อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ จะคล้ายกับการบังสุกุล เพียงแต่การพล็องนั้นจะนิยมทำกันเฉพาะในวันเข้าพรรษา คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ในช่วงเย็น (16.30 เป็นต้นไป) หลังจากการแห่เทียนเทียนเสร็จสิ้น

การตระเตรียมของพล็องนั้นบางท่านก็จะใส่ครุถัง ตะกร้า กระบุง เดินทางไปยังวัดบ้านเขว้า ในภาชนะที่ใส่นั้นจะประกอบไปด้วย ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ข้าวสารอาหารแห้ง หมากพลู  เป็นต้น ใส่ในภาชนะและนำใบตะลิงปิง ใบมะยม หรือใบไม้อื่นๆที่หาได้มาปิดคุลมด้านบน เชื่อว่า ไม่ให้สัมภเวสีไม่มีญาติตามมารับส่วนบุญส่วนกุศล เพราะเป็นการทำบุญเฉพาะบุคคล

เมื่อเดินทางถึงวัด ณ ศาลาการเปรียญ นำข้าวของที่จะถวายมาวางพร้อมซองถวายปัจจัย และธูป 1 ดอกนำมาปักไว้บนตะกร้า พระสงฆ์ 1 รูปที่ทำพิธีจะท่องบทสวดถือไม้พล็องชี้ไปบนของที่ถวาย หลังจากนั้นจะเป็นการกรวดน้ำให้แก่เหล่าบรรพบุรุษและเป็นอันเสร็จพิธี

พิธีพล็องนั้นถือว่าได้เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นประเพณีที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจ สามารถช่วยหล่อหลอมครอบครัว ญาติพี่น้อง ผู้คนในสังคมให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นสิ่งที่ควรถือปฏิบัติเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และการสืบทอดยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มีส่งต่อภายในสังคมหนึ่งจากรุ่นสู่รุ่นทำให้วัฒนธรรมนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือมีบทบาทในกลุ่มสังคมต่อไป