ข้าพเจ้านางสาวไอลดา นพไธสง ประเภทประชาชน ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์
หลักสูตร : NS02-1 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
สมุนไพรเป็นส่วนประกอบหลักสำคัญของอาหารพื้นบ้านไทย พืชผักสมุนไพรไทยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยเพิ่มรสชาติของอาหารให้กลมกล่อม เพิ่มสีสันและมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ สมุนไพรบางชนิดยังมีบทบาทช่วยในการป้องกันและบำบัดโรคต่างๆ และยังให้ประโยชน์ที่ดีต่อร่างกายทำให้ปัจจุบันมีผู้คนสนใจศึกษาเรื่องสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น และยังทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชผักสมุนไพรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
จากการลงพื้นที่ในตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่าผู้คนในชุมชนนิยมปลูกพืชผักสมุนไพรเพื่อนำมาประกอบอาหารหลากหลายเมนู ซึ่งจากการลงพื้นที่บ้านโนนสว่าง หมู่ที่ 12 ในตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่าคนในชุมชนส่วนมากทำอาชีพเกษตรกร หาปลา และทุกบ้านในชุมชนจะนิยมปลูกพืชผักสมุนไพรไว้รับประทานเองและนำแบ่งออกจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม พืชผักสมุนไพรที่นิยมปลูก ได้แก่ พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ผลกระกรูด ขมิ้น หอมแดง กระเทียม เป็นต้น และจากการสำรวจมีกลุ่มชาวบ้าน 5-10 คน มีความสนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ชุมชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารที่สามารถรับประทานเป็นทั้งอาหารหลักหรือมื้ออาหารที่เร่งด่วน และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็น “น้ำพริกไตปลาแห้งด่านช้าง”ได้นำพืชผักสมุนไพรที่ปลูกเอง และปลาที่หาซื้อได้จากพื้นที่ของชุมชนมาทดลองทำน้ำพริกไตปลาแห้งเพื่อชิมรสชาติ และได้ทำการคำนวณต้นทุน พบว่าการที่ใช้ปลาจากชุมชนรสชาติไม่เข้มข้น และยังมีต้นทุนที่สูง ถ้าเทียบกับปลาซาบะที่จะได้รสชาติที่เข้มข้นและราคาถูกกว่า ทางผู้ผลิตจึงทำการลดต้นทุนลง คือการซื้อปลาซาบะจากตลาดแต่ยังคงใช้พืชผักสมุนไพรจากทางชุมชน เมื่อสรุปวัตถุดิบและสูตรของน้ำพริกไตปลาแห้งได้แล้ว จึงทำการผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า “น้ำพริกไตปลาแห้งด่านช้าง” และใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีฝาปิดอย่างดีป้องกันการซึมผ่านของอากาศและน้ำ เพื่อรักษาคุณภาพของอาหารใด้สะอาดได้มาตรฐาน
อุปสรรคและปัญหาที่พบจากการลงสำรวจพื้นที่พบว่า ชาวบ้านในชุมชนยังขาดความรู้เกี่ยวกับการแปรรูป และการทำผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานเพื่อจัดจำหน่าย ขาดการเรียนรู้ด้านการตลาด และขาดการเรียนรู้การประชาสัมพันธ์ในช่องทางการขายทางช่องทางต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ร้านค้า OTOP ร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ได้แก่ Facebook page, TikTok shop เป็นต้น
จากการสำรวจพบว่า ชุมชนควรได้รับการพัฒนาเกี่ยวกับแนวคิดด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อส่งออกให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมไปถึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้เข้าเป็นสินค้า OTOP เพื่อที่จะสามารถให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ดังนั้นควรมีผู้เชียวชาญหรือวิทยากรมาให้ความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อที่ชาวบ้านได้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว รวมถึงสามารถสร้างเป็นธุรกิจให้กับชุมชนได้