“ข้าวอินทรีย์ ข้าวนกกระเรียน”
กชสร มาศบุญเรือง
นาข้าวอินทรีย์กับการกลับมาของนกกระเรียนพันธุ์ไทย
จากคำถามสู่การหาคำตอบ โดยการสำรวจ รวบรวม สอบถาม สืบค้น และอ้างอิงจากข้อมูลนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ยังคงเหลืออยู่ในธรรมชาติของประเทศกัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา และชนิดพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันอย่างนกกระเรียนพันธุ์อินเดีย ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่านกกระเรียนพันธุ์ไทยในประเทศกัมพูชาและเวียดนามส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ
ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้หวนกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้งเนื่องมาจากความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนและชุมชนท้องถิ่น ภายใต้การดำเนินงาน“โครงการนำประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ” ซึ่งรับผิดชอบหลักโดยองค์การสวนสัตว์
(นุชจรี, ปิยะกาญจน์ และบริพัตร, 2557) หลังจากที่มีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นชุ่มน้ำจังหวัดบุรีรัมย์ คือที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของประเทศไทย ตามอนุสัญญาแรมซาร์ โดยในช่วงแรกยังคงพบนกอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทพื้นที่ชุ่มน้ำและหนองน้ำ แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งที่นกสามารถปรับตัวได้ จึงเริ่มพบนกบางส่วนอพยพไปอาศัยในพื้นที่นาข้าวที่อยู่รอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างสูง สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2559-2561 พบการทำรังวางไข่ของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติครั้งแรก สัดส่วนร้อยละ 70-80 ของรังทั้งหมดถูกค้นพบในพื้นที่นาข้าว และลูกนกที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ก็เกิดในนาข้าวเช่นเดียวกัน เหตุผลหนึ่งของการเลือกทำรังในนาข้าว เนื่องจากพื้นที่นาข้าวในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นมีลักษะดินที่อุ้มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม มีอาหารพอเพียง และพฤติกรรมของเกษตรกรไม่ก่อให้เกิดการรบกวนต่อสัตว์ป่า ในขณะที่พื้นที่อ่างเก็บน้ำมีระดับน้ำที่สูงเกินไป และมีกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่อาจเป็นที่รบกวนต่อสัตว์ป่า จึงทำให้ “นาข้าว” กลายเป็นพื้นที่อาศัยและทำรังวางไข่ที่สำคัญของนกกระเรียนพันธุ์ไทย
ปัจจุบัน เกษตรกรที่ทำนาข้าวจังหวัดบุรีรัมย์ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวจากรูปแบบของเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยให้มีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System; PGS) และด้วยการจัดการความรู้ที่มีการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันกับนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้การเสริมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมแก่องค์กรชุมชนผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทย จะนำไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการผลิตข้าวอินทรีย์ ดังนั้น ข้าวอินทรีย์จึงเป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่าวิถีเกษตร ชาวนา และนกกระเรียนพันธุ์ไทย ล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เป็นไปตามคำขวัญที่ว่า “กระเรียนเคียงฟ้า นาอินทรีย์เคียงดิน มีกินยั่งยืน”
ผลจากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการปรับสถานภาพทางของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในบัญชีแดงด้านการอนุรักษ์ (Thailand red list data) จากสัตว์ที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติ (Extinct in the wild; EW) เป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critical endangered; CR) และถือเป็นก้าวหนึ่งของความสำเร็จที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการที่จะนำสัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วกลับมาของประเทศไทย ด้วยความร่วมมือร่วมใจในการอนุรักษ์ของชุมชนท้องถิ่น โดยหวังให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และเป็นตัวแทนของความสำเร็จในการอนุรักษ์สัตว์ป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทย