ภูมิปัญญาการทอเสื่อกก
เบญญา หล่อทอง
เสื่อกก เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำเอาต้นกกหรือต้นไหลมาแปรสภาพให้เป็นเส้นๆ ย้อมสี และนำไปทอให้เป็นผืนเสื่อ เพื่อนำไปปูรองนั่งหรือนอน หรือทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน
การทอเสื่อกก ในตำบลปังกูพบได้ในบ้านโคกใหญ่ หมู่ที่ 6 อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ การดำเนินชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นไปอย่างเรียบง่าย ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ผู้คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพหลักคือ เกษตรกร ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาการทอเสื่อกก ซึ่งเป็นอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านได้ทำในเวลาว่างหลังจากการทำไร่ทำสวน
จากการสอบถาม คุณยายวิมล สวายประโคน ได้ทำการทอเสื่อมาแล้ว 9-10 ปี ปัจจุบัน ทำบ้างหยุดบ้างจะทำเฉพาะเวลายามว่าง เพราะมีงานให้ทำหลายอย่าง เช่น ทำสวน ทำไร่ บวกกับอายุเริ่มเยอะแล้ว ลายที่ทอเป็นประจำ คือ ลายขิด ลายหมากฮอต ลายดอกแก้วใหญ่ เป็นต้น 1 ผืน ใช้เวลาทำประมาณ 3 วัน ผืนเล็ก 150 บาท ผืนใหญ่ 300-400 บาท รายได้ไม่แน่นอนเพราะไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก
การทอเสื่อกกเริ่มต้นจากการที่ทอไว้ใช้เองในครัวเรือน ทอไว้สำหรับใช้ในงานบุญต่างๆ และซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นอาชีพเสริม โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น คือ ต้นกก ต้นไหล มาสอยกรีดแบ่งให้เป็นเส้นบางๆผึ่งแดดให้แห้ง แล้วนำไปย้อมสีตามที่ต้องการ จากนั้นนำไปทอเป็นผืนๆเพื่อน้ำไปใช้งาน
อุปกรณ์ในการทอเสื่อ
- กกหรือไหล
- กรรไกร
- เชือกไนล่อนหรือเชือกเอ็น
- ฟืมทอเสื่อ
- โฮงทอเสื่อ
- ไม้สอดกก
- สีย้อมกก
ขั้นตอนการทอเสื่อ
- กางโฮงสำหรับทอเสื่อ
- นำเชือกไนล่อนสำหรับทอเสื่อมาโยงใส่ฟืมจนเสร็จ
- ฟืมที่ใช้ต้องมีขนาดเท่ากับเส้นกก
- นำเส้นกกที่ย้อมสีตากจนแห้งนำมาทอเสื่อ
- พอทอเสร็จก็ตัด แล้วนำไปตากแดดเพื่อให้สีติดทนนานหลังจากนั้นนำไปเก็บในที่ร่ม
การทอเสื่อที่สวยงามนั้นต้องใช้ความประณีตและความอดทนสูง เพราะการทอเสื่อต้องใช้ระยะเวลาในการทอมากจึงจะได้เสื่อที่สวยงาม ดังนั้นการทอเสื่อจึงเป็นอาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ไม่มีงานทำและชาวบ้านที่ว่างจากการทำไร่ทำสวนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย