โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)
กระผม นายธนารักษ์ ทองอร่าม ปนะเภทประชาชน รหัสตำบล AG10(2)
ผ้าฝ้าย-ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติ
ประวัติและความเป็นมา
การทอผ้าในหมู่บ้านคูณ ตำบลบ้านเป้า อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อสอบถามจากผู้ที่ทอผ้าในหมู่บ้าน ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด ใครเป็นผู้ริเริ่ม รู้แต่เพียงว่าได้รับภูมิปัญญาด้านการทอผ้ามาจากรุ่นคุณแม่ คุณยาย ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น
คุณยายทองจันทร์ หมื่นสีดา ผู้ซึ่งทอผ้าเป็นตั้งแต่อายุ 16 ปี ได้บอกกับเราว่า คุณยายได้รับการสอนมาจากคุณแม่ของคุณยาย สมัยก่อนจะมีทั้งการทอผ้าไหม และผ้าฝ้าย แต่ต่อมาด้วยคุณสมบัติที่ผ้าฝ้ายดูซับเหงื่อ สวมใส่สบาย ระบายอากาศ ดูแลรักษาง่าย ทั้งยังมีราคาย่อมเยาว์เข้าถึงง่าย จึงทำให้ผ้าฝ้ายเป็นที่นิยมทั้งในหมู่บ้าน และผู้คนภายนอกสนใจมาสั่งซื้อ จึงเข้ารวมกลุ่มทอผ้าฝ้ายบ้านคูณ ซึ่งต่อมาได้รับการยกระดับเป็นสินค้า OTOP สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคุณยายและสมาชิกในกลุ่มอีกกว่า 20 คน ปัจจุบันคุณยายอายุ 56 ปี ยังคงทอผ้าฝ้าย ได้แก่ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าขาวม้า ส่งขายให้กับร้านขายผ้าริมถนนของหมู่บ้านจำนวนมาก โดยลวดลายผ้าฝ้ายที่ทอ คุณยายใช้การจดจำจากประสบการณ์โดยไม่ได้มีการจดบันทึก
เช่นเดียวกับคุณยายอำมร มีประทัง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทอผ้าฝ้ายบ้านคูณ ที่เปิดร้านขายผ้าเล็กๆ ริมถนน มีสินค้าหลากหลายน่าสนใจผู้สัญจรผ่านไปมา คุณยายเล่าว่า เปิดร้านมาปีนี้เข้าสู่ปีที่ 5 ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายของร้านคุณยาย ได้แก่ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ผ้าถุง เสื้อ กางเกง กระโปรง กระเป๋า ย่าม ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 50 – 500 บาท มีทั้งที่คุณยายทอเองและรับซื้อมาจากเพื่อนสมาชิก เส้นด้ายที่ใช้เป็นด้ายย้อมสีสังเคราะห์ สั่งซื้อจากรถเร่ที่นำมาขายในหมู่บ้าน ซึ่งในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ผ่านมานั้น คุณยายบอกว่ายอดขายลดลงอย่างมาก แต่ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วก็จะกลับมาสู้ใหม่ไม่ยอมถอย
ขั้นตอนและวิธีทำ
- นำเส้นด้ายที่ย้อมแล้วมากรอใส่หลอด
- นำไปโว้นกับหลักเพื่อให้ได้จำนวนเส้นด้ายและความยาวตามที่ต้องการ
- เส้นด้ายที่โว้นแล้วนำไปม้วนเข้าลูม
- นำเส้นด้ายมาร้อยตะกอ(เขา) และฟันหวี(ฟืม) จนครบตามจำนวนเส้นด้ายที่กำหนดไว้
- จากนั้นนำด้ายพุ่งที่เตรียมไว้ไปกรอใส่หลอดเล็กสำหรับใส่กระสวยเพื่อใช้ทอ
- เริ่มทอผ้าได้ตามลายที่กำหนดไว้
แป้งขนมตาลสำเร็จรูป
เรื่องราวของผลิตภัณฑ์
เนื้อตาลสุกเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำขนมตาล นอกจากนี้ยังใช้เนื้อตาลสุกตกแต่งสี กลิ่น และรสขนมต่างๆ เพื่อให้แปลกใหม่ออกไป แต่เนื่องจากขั้นตอนการเตรียมเนื้อตาลสุกเพื่อเป็นส่วนผสมในอาหารนั้นค่อยข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน ทำให้การทำขนมตาลมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และตาลสุกจะมีเป็นช่วงฤดูกาล ซึ่งในตำบลบ้านเป้ามีลูกตาลจำนวนมาก กลุ่ม U2T ตำบลบ้านเป้าจึงเกิดแนวคิดในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ “แป้งขนมตาลสำเร็จรูป” ขึ้นมา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด เริ่มต้นลงมือทำจากกลุ่มสมาชิก U2T ตำบลบ้านเป้า จำนวน 10 คน
ขั้นตอนการทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์
หัวใจสำคัญของขนมตาลก็คือ “เนื้อตาล” ซึ่งเราจะต้องมาทำเนื้อตาลกันก่อน เพื่อมาทำขนมตาลต่อไป โดยมีขั้นตอนการทำเนื้อตาล ดังนี้
- เริ่มจากนำลูกตาลสดที่ได้มาฉีกเปลือกดำด้านนอกออก เห็นเนื้อตาลที่เต็มไปด้วยใยตาลสีเหลืองสด ในลูกตาลหนึ่งลูกจะมีพูแยกไว้ราว 2-3 พู เรียกว่า “เต้าตาล”
- เมื่อแยกพูออกจากกันแล้ว จะเห็นส่วนแข็ง ๆ ที่แกนกลางที่แข็งหน่อย เรียกว่า “ดีตาล” ได้ยินชื่อนี้รู้สึกถึง “ความขม” ทันที ต้องดึงออก เพราะส่วนนี้จะทำให้ขนมตาลมีรสเผื่อนหรือขมไปเลย
- เต้าตาลทั้งหมดจะต้องนำมาแช่น้ำแล้วใช้มือยีให้เนื้อตาลออกจากใยให้มากที่สุด เรียกขั้นตอนนี้ว่า “การยีตาล” กลุ่ม U2T ตำบลบ้านเป้าช่วยกันยีด้วยมือก่อนรอบหนึ่ง จากนั้นนำไปคั้นอีกรอบ เพื่อรีดเนื้อตาลออกมาให้มากที่สุด ระหว่างยีเราต้องอาศัยน้ำช่วยพอสมควร เพราะยิ่งตาลแห้งจะยิ่งรีดเนื้อออกลำบาก กระทั้งได้เนื้อตาลเหลว ๆ ผสมปนเปกับใยตาลออกมา
- เส้นใยตาลที่ปนอยู่ต้องกรองออก โดยการนำกระชอนตาถี่มากรองแยกใยออกไป ให้ได้เนื้อตาลเหลว ๆ เนียน ๆ
- นำผ้าขาวบางสำหรับแยกเนื้อตาลกับน้ำ ขั้นตอนนี้เรียกว่า “การเกรอะตาล” เพื่อกักเนื้อตาลให้อยู่ในถุงผ้าขาวบาง โดยการเทเนื้อตาลลงถุงแล้วแขวนไว้ให้น้ำหยดออกให้หมด ซึ่งต้องใช้เวลาถึงครึ่งวัน หรือมากกว่า 10 ชั่วโมงจนเหลือแต่เนื้อตาลที่ต้องออกมาแห้งที่สุด
- ตักเนื้อตาลออกจากถุงผ้าขาวบางขูดให้เกลี้ยงเพื่อเก็บเนื้อตาลให้มากที่สุด เมื่อได้เนื้อตาลแล้ว สามารถนำไปแช่ช่องฟรีซเพื่อเก็บไว้ใช้ได้ภายหลัง ด้วยการนำเนื้อตาลแบ่งใส่ถุงไว้เป็นขีดๆ ก่อนเข้าตู้เย็นเพื่อให้สะดวกในการขนมตามสูตรในวันถัดไป