ข้าพเจ้า นางสาวณัฐพร จันทร์เพ็ง ผู้ปฏิบัติงานประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลกลันทา อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ สังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) หรือโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG
จากการสำรวจพื้นที่ในตำบลกลันทา อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม เป็นต้นมานั้น พบว่า ตำบลกลันทา แบ่งการปกครองเขตออกเป็น 13 หมู่บ้าน ประชากรตำบลกลันทา ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และค้าขาย ครัวเรือนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพียงอาชีพเดียว สถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่ บ้านสวัสดี หมู่ที่ 3 ซึ่งเป็นหมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน มีนักท่องเที่ยวมากมายเข้ามาเยี่ยมชมตลาดที่ชุมชน ตลอดจนกลุ่มคณะศึกษาดูงานต่าง ๆ โดยมีการเยี่ยมชมการบริหารจัดการชุมชน ให้เป็นหมู่บ้านที่น่าอยู่ที่สุด ชาวบ้านในชุมชนมีความรู้ เข้าใจ สามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งชุมชนยังเป็นแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือนกำจัดขยะอินทรีย์ การจัดการขยะ คัดแยกขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมัก น้ำชีวภาพ ส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน และมีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อปลูกจิตสำนึกในการอยู่แบบพอเพียง นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังได้เยี่ยมชมกลุ่มอาชีพทอผ้าไหม จักสาน ทำเสื่อตะไคร้ และหมอนจากสมุนไพร จนได้รับรางวัล ชนะเลิศการประกวดชุมชนปลอดขยะ (Zero waste)ระดับประเทศ ประเภทชุมชนขนาดเล็ก ปี 2561 และวัดกลันทาราม ซึ่งทางวัดได้อัญเชิญพระองค์ดำที่สร้างด้วยหินดำเมืองนาลันทา ประเทศอินเดีย มาประดิษฐานให้ประชาชนที่สนใจได้เดินทางมากราบไหว้สักการะ และปัจจุบันนี้ทางวัดได้ก่อสร้างพระธาตุบุรีรัมย์ พุทธองค์ดำมหาเจดีย์ เพื่อให้เป็นพระธาตุเจดีย์สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปจาก 9 ประเทศ นอกจากนี้ชาวบ้านทั้งตำบลกลันทาต่างก็ใช้วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา งานบุญประเพณีต่าง ๆ และยังเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชนภายในตำบลกลันทาอีกด้วย
ชาวบ้านในชุมชนได้มีการคำนึงถึงเรื่องของการใช้ชีวิตแบบเศรฐกิจพอเพียง จึงได้มีการคิดค้นทำน้ำหมักน้ำยาอเนกประสงค์สูตรมะกรูดหมักกับสูตรมะกรูดต้ม + มะละกอ และร่วมกันจัดตั้งกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำยาเอนกประสงค์บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 8 โดยมีนางจำรัส สันทาลุนัย เป็นประธานคณะกรรมการบริการกลุ่มกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำยาเอนกประสงค์ จุดประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มขึ้น เพื่อนำวัตถุดิบสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาส่งเสริมอาชีพในการสร้างรายได้และลดรายจ่ายให้กับครัวเรือนที่สนใจในตำบลกลันทา และส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยเน้นการมีส่วนร่วม การทำงานเป็นกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งในชุมชนและความสมัครสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านหรือสมาชิกในกลุ่ม โดยผลิตภัณฑ์น้ำยาเอนกประสงค์ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 รหัสทะเบียน 7-31-01-26/1-0016 ภายใต้ชื่อ น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ ซึ่งน้ำยาสมุนไพรอเนกประสงค์สูตรนี้สามารถใช้ได้เป็นทั้งผลิตภัณฑ์ล้างจาน ทำความสะอาดภาชนะ และเครื่องใช้ในครัวเรือน ช่วยขจัดคราบมัน กลิ่นคาว และยังใช้ทำความสะอาดพื้น ซักผ้า ล้างรถได้อีกด้วย โดยน้ำยาสมุนไพรอเนกประสงค์นี้ไม่จำเป็นต้องใช้สีและใส่กลิ่นปรุงแต่ง เพื่อเป็นการลดใช้ทรัพยากร ลดการใช้สารเคมี และลดปริมาณสารเคมีตกค้าง จัดจำหน่ายตามแหล่งร้านค้าในชุมชนและผู้คนที่สนใจ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันทำให้การรวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำยาอเนกประสงค์หยุดชะงัก ไม่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สมาชิกในกลุ่มขาดรายได้ และยังพบปัญหาต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ไม่สวยงามและมีราคาต้นทุนสูง ฉลากสินค้าติดบรรจุภัณฑ์ยังไม่ได้มาตรฐาน ทางกลุ่มได้ใช้กระดาษขาวปริ้นต์สี ไม่กันน้ำ เมื่อนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานอาจทำให้ฉลากเกิดความเสียหายง่าย และอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้บริโภคได้ทำการแนะนำติชมหลังจากการใช้งานจริงคือ ผลิตภัณฑ์ยังไม่มีฟองตามความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจและตอบโจทย์ความต้องการของผุ้บริโภคเท่าที่ควร
หลังจากได้ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดสินค้าแล้ว ทางคณะทำงานตำบลกลันทาก็ได้ดำเนินการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาผลิตภัณฑ์ชิ้นที่สอง จึงได้เข้าพบนางสร้อย ด้ายรินรัมย์ ตามคำแนะนำของสมาชิกกลุ่มคณะทำงานของเราที่เป็นคนในพื้นที่ ซึ่งคุณป้าสร้อยเป็นผู้นำในการรวมกลุ่มของแม่บ้านในชุมชนบ้านกลันทา หมู่ที่ 2 เพื่อใช้เวลาว่างหลังจากการทำการเกษตรกรรมมาหารายได้เสริมอีกช่องทางหนึ่ง จากการตัดเย็บเสื้อผ้า เย็บกระเป๋าขายให้กับผู้คนที่สนใจภายในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง จากการที่ได้พูดคุยปรึกษาหารือกับคุณป้าสร้อยแล้วยังพบปัญหาว่า ชาวบ้านบางส่วนยังว่างงาน ขาดรายได้ และจากการสำรวจรอบ ๆ ตำบลกลันทาแล้วพบว่า ชาวบ้านในชุมชนได้มีการปลูกสมุนไพรไว้ใช้ในครัวเรือนเป็นจำนวนมาก ทางคณะทีมงานร่วมกับกลุ่มแม่บ้านของคุณป้าสร้อยจึงได้ร่วมกันคิดค้นวิธีแปรรูปสมุนไพรกับผ้าไหมลายหางกระรอกคู่ที่มีอยู่ของชาวตำบล กลันทา ให้เกิดผลิตภัณฑ์สินค้าชิ้นใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มและครัวเรือนในชุมชน จึงเป็นที่มาของหมอนสมุนไพรเพื่อสุขภาพหรือกลันทาเฮิร์บ