นางสาวนหัทภรณ์ ซอกรัมย์ ประเภทประชาชน HS23-2-คณะมนุษยศาสตร์ฯ ตำบลหนองบัวโคก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
HS23-2 โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ข้าพเจ้านางสาวนหัทภรณ์ ซอกรัมย์ กลุ่มประชาชนได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลของคนในตำบลหนองบัวโคก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ในเดือนสิงหาคม โดยกิจกรรมแรกของเดือน วันที่ 4 สิงหาคม 2565 ข้าพเจ้าได้เข้าประชุมกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูล TCD การลงข้อมูล C03 และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปั้นดินเป็นดาวและส้มหมูรสเด็ด by หนองบัวโคก
กิจกรรมถัดมาข้าพเจ้าได้เข้าประชุมกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวโคก ในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 โดยนายพัสกร แกล้วกล้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวโคกได้มาต้อนรับพูดคุยและให้กำลังใจสมาชิกทุกท่าน ถัดจากนั้นสมาชิกจึงเริ่มประชุมและร่วมกันออกแบบสอบถาม เพื่อเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลสำหรับผลิตภัณฑ์ทั้งสอง แบ่งงาน/หน้าที่ในการเข้าสำรวจแต่ละหมู่บ้านในตำบลหนองบัวโคกทั้ง 12 หมู่บ้าน เพื่อให้ทราบว่ามีหมู่บ้านใดบ้างที่ทำส้มหมู ทำแบบไหน ทำขายเป็นธุรกิจหรือไม่ หากทำขายแล้วมีรายได้ประมาณเท่าไร และแจ้งกับทางชุมชนว่าเรามีวัตถุประสงค์อะไร
หลังจากประชุมเสร็จข้าพเจ้าและสมาชิกได้ลงพื้นที่ ณ บ้านห้วยศาลา หมู่ 1 ต.หนองบัวโคก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โดยได้สัมภาษณ์นางประมวล บุญไธสงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มทำส้มหมู จากการพูดคุยได้ข้อมูลดังต่อไปนี้
“ส้มหมูบ้านห้วยศาลา” เกิดจากการรวมกลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้านห้วยศาลา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน และมีนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการเข้ามาช่วย เริ่มก่อตั้งกลุ่มในปี 2562 และยังคงดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 2 ปี
ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มทำส้มหมูทั้งหมด 31 คน ทางกลุ่มจะมีหัวหน้ากลุ่มและมีผู้ทำบัญชี ในการทำส้มหมูนั้นไม่ได้ทำขายทุกวัน แต่จะทำก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้า โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในหมู่บ้านหรือละแวกใกล้เคียง มีการโพสขายใน facebook หรือ Line ส่วนตัว (ยังไม่มีเพจหลัก) นอกจากนี้ยังสามารถทำไปขายที่ตลาดนัด ณ ตลาดสดลำปลายมาศ ซึ่งจะจัดทุกวันศุกร์ แต่เนื่องจากไม่มีคนว่าง จึงไม่ได้ทำไปขาย จึงเสียโอกาสและรายได้ในส่วนนี้ไป
ในการทำส้มหมูนั้น เมื่อได้รับคำสั่งซื้อ ผู้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจะเบิกเงินจากส่วนกลางของกลุ่มสัมมาชีพชุมชนมาใช้ในการซื้อวัตถุดิบต่างๆ เนื้อหมูที่ใช้เป็นเนื้อหมูจากฟาร์มที่คนในหมู่บ้านเลี้ยงสำหรับขาย สมาชิกกลุ่มจะสั่งเนื้อหมูไว้ก่อนล่วงหน้า และเนื่องจากไม่มีเครื่องบดหมูเป็นของตัวเอง จึงสั่งเป็นหมูบดซึ่งทางร้านขายหมูจะบดมาให้ เมื่อได้วัตถุดิบครบ สมาชิกกลุ่มก็จะมาช่วยกันทำส้มหมู หลังจากนำไปขายกำไรที่ได้จะนำไปเข้าบัญชี สมาชิกกลุ่มจะได้รับเป็นเงินปันผลรายปี
ในส่วนของสูตรส้มหมูนั้น ได้รับสูตรที่เป็นมาตรฐานจากครูที่เข้ามาช่วยพัฒนา ซึ่งก่อนหน้าที่จะได้รับสูตร (เมื่อ 2 ปีก่อน) ชาวบ้านมีการทำส้มหมูอยู่แล้ว แต่เป็นแบบทำกินเองในครัวเรือน ตัวส้มหมูใช้ใบตองห่อ เวลาขายก็ใส่ถุงพลาสติกธรรมดา ยังไม่มีโลโก้ (Logo) หรือแพคเกจจิ้ง (packaging) ที่สวยงาม และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน อย. สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นยังไม่มี เพราะจะทำมือกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น การตำวัตถุดิบด้วยครกแทนการใช้เครื่องปั่น หรือการบรรจุก็ใช้แมกเย็บถุงปิดปากแทนการใช้เครื่องซีลสุญญากาศ เป็นต้น
นอกจากบ้านห้วยศาลาแล้วยังมีบ้านหนองจานเกี๊ยวที่เคยทำส้มหมูด้วย แต่ปัจจุบันเลิกทำแล้ว กล่าวได้ว่าใน 12 หมู่บ้าน มีเพียงบ้านห้วยศาลาที่ทำส้มหมูขาย สำหรับปัญหาที่พบ จะเป็นในส่วนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันหมูมีราคาแพงขึ้นมาก (กิโลละ 200 บาท) ขณะที่ส้มหมูยังคงขายในราคาเดิม (ชิ้น/ห่อละ 10 บาท) ส่งผลให้กำไรลดลง
วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ข้าพเจ้าและสมาชิกได้ช่วยกันลงข้อมูล C03 ในระบบ ถัดจากนั้นได้นำแบบสอบถามที่ได้จากการสำรวจมาวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานสรุปผล เมื่อได้ข้อมูลแล้วทางอาจารย์ประจำตำบลจึงได้ติดต่อวิทยากรเพื่อนัดวันสำหรับจัดอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระหว่างนี้ข้าพเจ้าและสมาชิกทุกคนได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านทั้ง 12 หมู่บ้าน เพื่อแจ้งว่าเราจะมีการฝึกอาชีพใหม่และรับสมัครผู้ที่สนใจ หรือตัวแทนหมู่บ้านมาเข้าร่วมอบรม เมื่อได้รายชื่อและจำนวนคนแล้วทางกลุ่มจึงนัดประชุมวางแผนในการจัดเตรียมหาสถานที่และอุปกรณ์ในการจัดอบรม ทำการแจ้ง/ประสานงานกับทางชุมชน นัดหมายวัน เวลา สถานที่ และแบ่งหน้าที่รับผิดชอบให้สมาชิกแต่ละคน ซึ่งข้าพเจ้าได้รับผิดชอบในการถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอภายในงาน
เข้าสู่เดือนที่สองหลังจากที่ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมและปฏิบัติงานในโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ข้าพเจ้าได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง ได้ลงพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้เห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และถ่ายทอดมาถึงปัจจุบัน ทำให้ข้าพเจ้าสนใจและอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้สืบต่อไป