นางสาวนหัทภรณ์ ซอกรัมย์ ประเภทประชาชน HS23-2-คณะมนุษยศาสตร์ฯ ตำบลหนองบัวโคก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
หลักสูตร : HS23-2 โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ข้าพเจ้านางสาวนหัทภรณ์ ซอกรัมย์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ปฏิบัติงานประจำตำบลหนองบัวโคก และได้เริ่มปฏิบัติงานในช่วงเดือนกรกฎาคมตามแผนดำเนินงาน โดยกิจกรรมแรกของเดือน วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมพิธีเปิด U2T for BCG บน เพจกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านช่องทาง Facebook Live ผลจากการรับชม ทำให้ทราบถึงความเป็นมาของโครงการ และจุดประสงค์หรือเป้าหมายของโครงการ ซึ่งทาง อว. และมหาวิทยาลัยได้สนับสนุนภารกิจระดับชาติ โดยใช้ความรู้ช่วยเพิ่มศักยภาพสินค้าและบริการ ขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับรายได้ให้ประชาชน ยกระดับประเทศให้เป็นประเทศรายได้สูงที่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เป็นการวางรากฐานที่มั่นคง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึงด้วยเศรษฐกิจ BCG อันประกอบไปด้วย
- B : Bio-Economy เศรษฐกิจชีวภาพ
- C : Circular-Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน
- G : Green-Economy เศรษฐกิจสีเขียว
กิจกรรมถัดมาข้าพเจ้าได้เข้าร่วมปฐมนิเทศ ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 โดย รศ.ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้มาเป็นประทานกล่าวเปิดงาน พูดคุย และให้กำลังใจสมาชิกทุกท่าน ถัดจากนั้นอาจารย์จินตนา วัชรโพธิกร เป็นตัวแทนอาจารย์ในการชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการ แนวทางการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างประจำตำบล ตามโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิด ด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)
ต่อจากการปฐมนิเทศคือการประชุมสมาชิกกลุ่มประจำตำบลหนองบัวโคก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สมาชิกในกลุ่มได้มาเจอกัน ดังนั้นทุกคนจึงต้องแนะนำตัวเองพร้อมกับมองหาบุคคลที่มีความเป็นผู้นำและเหมาะที่จะเป็นหัวหน้าทีม ผลจากการประชุมทำให้ได้รายชื่อสมาชิกที่จะต้องรับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ เช่น หัวหน้า เลขานุการ และหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งข้าพเจ้าได้รับหน้าที่ในการตัดต่อคลิปวีดีโอ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันออกความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าที่น่าสนใจในตำบล ซึ่งผลสรุปผลิตภัณฑ์ที่เลือก ได้แก่ แหนมหมูหรือส้มหมูโบราณ และผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ขึ้นชื่อในตำบลหนองบัวโคก
เหตุผลที่เลือกส้มหมูโบราณ เนื่องจากส้มหมูนั้นเกิดจากภูมิปัญญาของผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลหนองบัวโคก และชุมชนก็ได้มีการทำส้มหมูทานเองในครัวเรือนอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งการทำส้มหมูนั้นคือวิธีการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง มีการนำวัสดุธรรมชาติอย่างใบตองที่หาได้จากท้องถิ่นมาใช้เป็นวัสดุหลักในการห่อตัวส้มหมู ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทางสมาชิกกลุ่มเล็งเห็นว่าส้มหมูโบราณนี้สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นของดีประจำตำบล และนำออกสู่ท้องตลาดได้ โดยให้ชื่อผลิตภัณฑ์นี้ว่า “ส้มหมูรสเด็ด by หนองบัวโคก”
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่สองนั้น สมาชิกเห็นพ้องในการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์นี้ว่า “ปั้นดินเป็นดาว” จัดอยู่ในประเภทธุรกิจการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ โดยจะมีศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคก โดยปั้นดินเป็นดาว จะเป็นกิจกรรมใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวให้ได้สร้างสรรค์ปั้นดินตามจินตนาการ จากผลิตภัณฑ์ดินปั้นไม่กี่อย่างสามารถนำไปต่อยอด สร้างเป็น Workshop ให้นักท่องเที่ยวได้มาร่วมออกแบบงานศิลปะด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตา แก้ว แจกัน โมบายแต่งบ้าน ฯลฯ โดยชุมชนจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักท่องเที่ยวและสอดแทรกแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุทุกอย่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการนำดินซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติมาสร้างอาชีพใหม่ โดยคนในชุมชนสามารถนำผลงานปั้นของตัวเองมาวางขายที่พิพิธภัณฑ์ หรือหากในอนาคตทางโครงการได้ช่วยให้มีช่องทางในการขายออนไลน์ ประชาชนก็จะสามารถขายสินค้าได้ง่ายขึ้น เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
หลังจากที่เลือกผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาพัฒนาได้แล้ว อาจารย์ประจำหลักสูตรของตำบลหนองบัวโคกก็ได้นำผลิตภัณฑ์ทั้งสองไปเสนอกับทางมหาวิทยาลัย เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วจึงเริ่มดำเนินงานขั้นถัดไปคือ กรอกแบบฟอร์มข้อเสนอโครงการ C-01 ซึ่งเป็นงานที่ทุกตำบลจะต้องส่ง
นอกจากนี้แล้วก็มีกิจกรรมปฐมนิเทศอาจารย์ประจำตำบล โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล U2T มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นการปฐมนิเทศออนไลน์ผ่านทางโปรแกรม Microsoft Team มีการสตรีมไลฟ์สดผ่านช่องทาง YouTube และข้าพเจ้าก็ได้เข้าร่วมรับฟังการปฐมนิเทศนี้ด้วย ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้มาร่วมในการจัดกิจกรรมครั้งนี้และพูดคุยกับอาจารย์ทุกท่านเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการ ถัดจากนั้นท่านอาจารย์ ดร.ชาติวุฒิ ธนาจิรันธร รองผู้อำนวยการ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ก็ได้อธิบายในส่วนของระบบ MIS U2T ซึ่งเป็นส่วนของอาจารย์ประจำตำบล และส่วนของระบบรับสมัครที่ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนเกี่ยวข้อง และในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ข้าพเจ้าได้เข้าอบรมวิธีการจัดเก็บและกำกับตรวจสอบข้อมูล TCD ผ่านช่องทาง Facebook Live บนเพจ U2T Online Community
หลังจากผ่านเหตุการณ์ของโรคระบาดโควิด จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารทางออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญ ดังนั้นสมาชิกกลุ่มจึงได้มีการประชุมหาลือกันผ่านทาง Google meet อย่างไรก็ตาม สมาชิกก็ได้นัดหมายเพื่อมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันในวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคก และช่วยกันวางแผนธุรกิจเพื่อที่จะกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์ม C-02 ต่อไป
เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมและปฏิบัติงานในโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นความสำคัญของการนำความรู้และเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะสามารถยกระดับรายได้ให้กับประชาชน และยังได้เห็นคุณค่าของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เข้าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงได้พัฒนาทักษะการตัดต่อวีดีโออีกด้วย