สบู่สมุนไพรจากท้องถิ่น

ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์

ข้าพเจ้า นางสาวธิวาพร  แปนไมล์ บัณฑิตจบใหม่

หลักสูตร: NS02-1 พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

 ข้าพเจ้าและทีมงานโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยรับผิดชอบตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ จากงานที่ได้รับมอบหมายโดยการนำเสนอโครงการ “สบู่สมุนไพร” ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์  ข้าพเจ้าและทีมงานได้ลงสำรวจพื้นที่บ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว อ้อย และจากการลงพื้นที่พบว่าในชุมชนมีการปลูกพืชสมุนไพรหลากหลาย และเป็นหนึ่งชุมชนที่นำการปลูกผักสมุนไพรมาทำเป็นอาชีพเสริม ข้าพเจ้าได้เล็งเห็นความสำคัญของสมุนไพรที่มีในท้องถิ่นหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ว่านหางจรเข้ มะขาม ว่านไพร อัญชัน ขมิ้น ขิง ข่า ตะไคร้ น้ำผึ้ง และอื่นๆ ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของตำบลบ้านด่าน และได้เห็นว่าในปัจจุบันเริ่มพบน้อยที่ชุมชนจะนำสมุนไพรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ข้าพเจ้าจึงมีแรงบันดาลใจในการเขียนบทความเกี่ยวกับการแปรรูปสมุนไพรให้เป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชนตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์
สมุนไพร หมายถึง ผลิตผลธรรมชาติได้จากพืช สัตว์ และแร่ธาตุที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค อาการเจ็บป่วยต่างๆ และบำรุงร่างกาย จากงานที่ได้รับมอบหมายโดยการนำเสนอโครงการ “สบู่สมุนไพร” จากการสำรวจสอบถามและสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรเพื่อให้การแปรรูปผลิตภัณฑ์เกิดความสำเร็จ ได้มีการการวางแผนการผลิตสบู่สมุนไพรแต่ละชนิดที่มีสรรพคุณของสมุนไพรที่เหมาะสมในการทำผลิตภัณฑ์ โดยคัดสรรสมุนไพรเป็นแบบสมุนไพรผสม 4 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะขามเปียกที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว น้ำผึ้งช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ร่างกาย ว่านหางจรเข้ช่วยลดริ้วรอยแผลเป็น และขมิ้นมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยในการชะลอวัยและชะลอการเกิดริ้วรอย

นอกจากนี้ ชาวบ้านในชุมชนบ้านโนนสวรรค์ก็ได้มีความสนใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก หากมีการผลิตผลิตภัณฑ์“สบู่สมุนไพร”ในชุมชนนั้น กลุ่มชาวบ้านมีความสนใจเข้าร่วมโครงการ 15-20 คน เนื่องจากทำให้ชาวบ้านได้มีรายได้เสริมที่เพิ่มขึ้นและเพื่อสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ของเรา

ดังนั้น เพื่อให้ชุมชนได้มีรายได้ในระยะยาว และเพื่อให้ผลิตภัณฑ์“สบู่สมุนไพร”เกิดความยั่งยืน ข้าพเจ้าและทีมงานจึงได้มีการวางแผนการผลักดันการพัฒนาการผลิตสินค้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน และการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าOTOP โดยมีการวางแผนทางการตลาดให้มีการออกแบบที่สร้างความแตกต่างทางด้านของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย และมีวิธีประชาสัมพันธ์ไปยังร้านค้าOTOP ตลาดนัดชุมชน และช่องทางออนไลน์