โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิด ด้วยเศรษฐกิจ BCG

(U2T for BCG)

บทความประจำเดือนกันยายน พ.ศ.2565

ข้าพเจ้า นางสาวมินตรา เรืองคง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ดำเนินงาน ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ประจำตำบลบุโพธิ์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ในโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิด ด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ แผนงานที่ได้ดำเนินการในเดือนกันยายน มีดังต่อไปนี้

แผนงานที่ 1 จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลวัวหมักจุลินทรีย์อัดเม็ด ให้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านหนองเจ้าหัวและบ้านบุผู้หญิง ต.บุโพธิ์ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อ เพิ่มทักษะด้านกระบวนการหมักมูลวัวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากนั้นทีมผู้ปฏิบัติงานได้ทำการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยการนำตัวอย่างมูลวัวหมักจุลินทรีย์อัดเม็ด ไปวิเคราะห์ธาตุอาหารแบบ Test Kit ที่ห้องปฏิบัติการดิน สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อใช้ในการรับรองคุณภาพสินค้าให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

แผนงานที่ 2 จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาพวงกุญแจกระเป๋าผ้าไหมอเนกประสงค์ ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาศรีนวล ต.บุโพธิ์ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อ เพิ่มทักษะด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ การตกแต่งผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ และ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าไหมให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ต่อมาก็ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามแผนกต่าง ๆ ได้แก่ แผนกออกแบบพวงกุญแจ แผนกจัดเตรียมเศษผ้าไหม แผนกตัดเย็บชิ้นงาน และ แผนกกระจายสินค้า

แผนงานที่ 3 กิจกรรม ECT Week ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้ลงพื้นทีเก็บข้อมูลร่วมกับ คณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.) ต.บุโพธิ์ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในตำบล มีการคัดเลือกหมู่บ้านนำร่องที่ดำเนินวิถีชีวิตตามระบบประชาธิปไตย ไม่มีการซื้อสิทธิ ขายเสียง ภายใต้โครงการ “พลเมืองดี วิถีประชาธิปไตย” ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านบุผู้หญิง หมู่ที่ 3 และบ้านหนองแวงงาม หมู่ที่ 8 จากการลงพื้นที่ ทำให้ทราบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ดำเนินชีวิตประจำวันสอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตย คือ การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และ การเคารพสิทธิ เสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เป็นต้น จากการสัมภาษณ์ประเด็นผู้นำที่พึงประสงค์ พบว่า ชาวบ้านต้องการผู้นำที่มีความรู้ ความสามารถรอบด้าน เป็นผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ยึดมั่นในหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค เป็นต้น จากการสัมภาษณ์ประเด็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ชาวบ้านได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำได้แก่ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การรู้จักประมาณตน การรู้จักประหยัดอดออม และการมีความรู้คู่คุณธรรม เป็นต้น

แผนงานที่ 4 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงาน ต.บุโพธิ์ ได้จัดบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์มูลวัวหมักจุลินทรีย์อัดเม็ด และพวงกุญแจกระเป๋าผ้าไหมอเนกประสงค์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เนื่องในงานพิธีซ้อมรับพระราชทานปริญญาบัตร ระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2565 ซึ่งถือว่าได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า ทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ยอดขายในเดือนกันยายนนี้ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

นอกจากที่ได้ดำเนินการตามแผนงานแล้ว ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงาน ต.บุโพธิ์ ยังได้เข้าร่วมงานบุญผ้าป่า ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านโคกว่าน ต.หนองโสน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้เข้ารับฟังการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เศรษกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชา ฝ่าทุกวิกฤติในยุค World disruption โดย คุณโจน จันได และร่วมรับฟังเสวนาชุมชน เรื่อง “เกษตรอินทรีย์ บนวิถีพอเพียง: ทำอย่างไรให้เป็นทางเลือกและทางรอดอย่างยั่งยืน?” ก่อนเดินทางกลับ ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานก็ได้รับแจกวัตถุมงคลต้นไม้ (ต้นสัก) เพื่อนำไปปลูกป่าสร้างคุณค่าสู่แผ่นดินอีกด้วย

วิดีโอประกอบการลงพื้นที่