บทความ : การพัฒนาวิธีการย้อมสีเส้นใยฝ้ายด้วยสีธรรมชาติให้เป็นผลิตภัณฑ์แก่ชุมชน

เขียนโดย : นางสาวมัลลิกา โต๊ะไธสง  ประเภท : บัณฑิตจบใหม่  หลักสูตร : AG10-2

โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development)

——————————————————————————————————————————————————–

ข้าพเจ้า นางสาวมัลลิกา โต๊ะไธสง ผู้ปฏิบัติงานในโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) ประเภทบัณฑิตจบใหม่ พื้นที่ตำบลบ้านเป้า อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการปฏิบัติงานของเดือนกันยายนนี้ ผู้ปฏิบัติงานได้ทำตามกำหนดแผนงานที่อาจารย์ประจำตำบลได้มอบหมายงานให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติ ดังนี้

                ใยฝ้ายได้มาจากส่วนที่ห่อหุ้มเมล็ดของต้นฝ้าย หรือที่เรียกว่า ปุยฝ้าย ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ ฝ้ายมีคุณสมบัติเนื้อนุ่ม โปร่งสบาย ระบายความร้อนได้ดี เนื่องจากฝ้ายมีช่องระหว่างเส้นใย จึงเหมาะกับสภาพอากาศในฤดูร้อน และเมื่อเปียกจะตากแห้งได้เร็ว การใช้ฝ้ายมาใช้งานทำได้โดยนำฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้าย แล้วนำมาทอเป็นผืนผ้า ผ้าที่ผลิตจากฝ้ายพันธุ์ดี เส้นใยยาว ผิวของผ้าจะเรียบเนียน และทนทาน คุณภาพของฝ้ายขึ้นอยู่กับพันธุ์ ความยาวและความเรียบของเส้นใย ใยฝ้ายเองไม่ค่อยแข็งแรงนัก แต่เมื่อนำมาทอเป็นผ้าจะได้ผ้าที่แข็งแรง ยิ่งทอเนื้อหนา-แน่น จะยิ่งแข็งแรงทนทาน ดูดความชื้นได้ดี ใช้เป็นชุดสวมใส่ในฤดูร้อนจะรู้สึกเย็นสบาย คุณลักษณะเด่นของผ้าฝ้ายคือ ยับง่าย รีดให้เรียบได้ยาก แต่ปัจจุบันมีการตกแต่งทำให้ผ้าไม่ค่อยยับและรีดให้เรียบได้ง่ายขึ้น ซักได้ด้วยผงซักฟอก ซักรีดได้ที่อุณหภูมิสูง

กระบวนการย้อมด้วยสีธรรมชาติโดยใช้กระบวนการช่วยย้อม พืชที่ให้สีและสามารถนำมาผลิตสีเพื่อการย้อมนี้มีได้ตั้งแต่ ใบ ดอก ผล ลำต้น เปลือก แก่น ราก หัวหรือเหง้าในดิน ซึ่งแต่ละชนิดแต่ละส่วนของพืชจะให้สีสันที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความอ่อน ความแก่ และช่วงฤดูกาลที่เก็บเกี่ยวด้วย พืชที่ให้สีติดเส้นฝ้ายดีนั้นมักเป็นพืชที่ให้รสฝาด ซึ่งความฝาดมีฤทธิ์เป็นด่าง พืชแต่ละชนิดที่นำมาย้อมเส้นด้ายมีความสามารถในการติดสี ความคงทนต่อความขัดถู หรือความคงทนต่อแสงได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางชีวเคมีภายในของพืชและเส้นด้ายที่นำมาใช้ย้อม เราจึงต้องใช้สารช่วยย้อมมาเป็นตัวช่วยในการทำให้เส้นด้ายดูดซับสีได้ดี มีความคงทนต่อแสงและการขัดถูเพิ่มขึ้น จะเป็นสารที่ช่วยในการยึดและจับสี แล้วยังทำให้ได้เฉดสีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

กลุ่ม U2T For BCG ตำบลบ้านเป้า จึงได้เข้ามาส่งเสริมการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาผลิตสีย้อมผ้า โดยการจัดอบรมและเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เพิ่มเติมกับพี่น้องประชาชนในตำบลบ้านเป้า ด้วยวิธีการย้อมเส้นใยฝ้าย ซึ่งก่อนที่จะนำเส้นใยฝ้ายไปย้อมสี เราต้องกำจัดไขมัน สิ่งสกปรก รวมทั้งสารที่เคลือบติดเส้นด้ายออกไปเพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้สีย้อมติดเส้นด้ายไม่ดี ในการทำความสะอาดเส้นด้ายทำได้โดยละลายเกลือแกงกับน้ำแล้วนำฝ้ายลงแช่เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นนำไปต้มในน้ำเดือดที่ผสมน้ำยาล้างจานกับด่างฟอกเส้นด้าย กลับเส้นด้ายเป็นระยะ ๆ ต้มต่อไปอีกเป็นเวลา 30 นาที จึงนำเส้นด้ายขึ้นมาล้างด้วยน้ำสะอาด บิดหมาด ๆ และกระตุกเส้นด้าย 2-3 ครั้ง เพื่อให้เส้นด้ายเรียงตัวแล้วนำไปตากให้แห้ง

นอกจากนี้ กลุ่ม U2T For BCG ตำบลบ้านเป้า ยังได้จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปเนื้อตาลสุกให้เป็นแป้งขนทตาลสำเร็จรูปแก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย โดยมีการปรับวิธีและขั้นตอนการผลิต รวมถึงคิดค้น ปรับปรุง และพัฒนาสูตรให้ผลิตภัณฑ์แป้งขนมตาลสำเร็จรูปสมบูรณ์แบบมากที่สุด

สิ่งที่ได้เรียนรู้

  1. ได้ศึกษาวัตถุประสงค์ในการแปรรูปผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติของชุมชน
  2. ได้ศึกษาวิธีการนำพืชในหมู่บ้านมาใช้ทำสีย้อมผ้า
  3. ได้เรียนรู้กระบวนการย้อมสีผ้าฝ้ายด้วยสีธรรมชาติเพื่อจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน
  4. ได้นำผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติออกจัดจำหน่ายในช่องทางออนไลน์