“เทคนิคการย้อมสีผ้าไหมจากธรรมชาติ”

นางสาวปาริษา ดาวโรยรัมย์

         การย้อมสีธรรมชาติ  คือ การนำเอาวัตถุดิบในธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ จุลินทรีย์ และแร่ธาตุต่าง ๆ มาทำการย้อมกับเส้นด้าย เพื่อนำมาใช้ในการทอผ้า เพิ่มสีสันให้กับเส้นด้ายให้มีความสวยงาม ซึ่งมีการสืบทอดเทคนิควิธีการย้อมมายังคนรุ่นหลัง เป็นวิธีการที่ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน ด้วยภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนได้นำเอาองค์ความรู้ในการย้อมสีผ้าด้วยวัสดุจากธรรมชาติที่ไม่เป็นพิษต่อผู้คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาสู่ลูกหลาน และเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพของชาวชนบท โดยขั้นตอนในการย้อมสีธรรมชาติแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

        1. การทำความสะอาดเส้นไหม/ เส้นฝ้าย ก่อนการย้อม                                                                                                                                             

            ก่อนที่จะนำเส้นไหม/ เส้นฝ้าย/ ผ้า ไปย้อมสีนั้น ต้องกำจัดไขมัน สิ่งสกปรก รวมทั้งสารที่เคลือบติดเส้นด้ายออกไป เพราะสิ่งเหลานี้ทำให้สีย้อมติดเส้นด้ายไม่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผ้าทอที่ขอการรับรอง มผช ไม่ผ่านมาตรฐานในรายการความคงทนของสีต่อการซัก

            1.1 ไหม

                   เส้นไหม คือ เส้นใยโปรตีนธรรมชาติ ประกอบด้วยโปรตีน 2 ชนิด คือ ไฟโบรอิน ซึ่งใช้ในการทอเป็นผืนผ้า และกาวไหม เรียกว่า เซริซิน (Sericin) ทำหน้าที่เป็นกาวเคลือบเส้นไฟโบรอิน เป็นเส้นใยต่อเนื่องจำนวน 2 เส้นให้ยึดติดกัน นอกจากนั้นยังมีส่วนประกอบอื่น ได้แก่ ไขมัน น้ำมัน แร่ธาตุต่างๆ และสีที่ปรากฏตามธรรมชาติ การทำความสะอาดเพื่อลอกกาวไหมหรือการฟอกไหม หมายถึง การทำความสะอาดเส้นใยไหมด้วยการกำจัดส่วนของเซริซิน ที่มีลักษณะเป็นสารสีเหลืองทึบหรือสีขาว (ไหมดิบมีทั้งสีเหลือง และสีขาว ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) ออกจากเส้นใยไหมเพื่อการเตรียมเส้นใยไหมก่อนที่จะนำมาย้อมสีต่างๆ ซึ่งถ้าไม่มีการกำจัดสารดังกล่าวออก หากนำมาย้อมจะทำให้ย้อมติดสีได้ยาก เส้นใยไหมที่ผ่านการลอกกาวจะมีลักษณะ  สีขาว มันวาว อ่อนนุ่ม และสามารถย้อมติดสีต่างๆ ได้ดี โดยการทำความสะอาดเส้นไหมมีวิธีการ ดังนี้

                 (1) เติมน้ำลงหม้อประมาณ 30 ลิตร ใส่สบู่เทียม 150 กรัม  (5 กรัม/ลิตร) และด่าง โซดาแอช (Na2CO3) 60 กรัม (2 กรัม/ลิตร)

                 (2) ต้มน้ำในหม้อย้อม ให้น้ำร้อนประมาณ 70 องศาเซลเซียส สังเกตผิวน้ำในหม้อเกิดไอน้ำเล็กน้อย

                 (3) นำเส้นไหม 1 กิโลกรัม ใส่ลงในหม้อต้ม กดไหมให้จมน้ำ

                 (4) ค่อยๆ เพิ่มไฟ ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ 95 องศาเซลเซียส จนถึงเดือด และต้มเส้นไหมนาน 1 ชั่วโมง

                  (5) นำเส้นไหมขึ้นมาวางทิ้งไว้ เพื่อให้เย้นตัวลง ก่อนนำไปล้างโดยให้ล้างจากน้ำอุ่นไปหาน้ำเย็น (ล้างด้วยน้ำอุ่นที่ 60 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-3 ครั้ง ก่อนนำไปล้างด้วยน้ำเย็นอุณหภูมิห้อง) บิดหมาดๆ และกระตุกไหม 2-3 ครั้ง เพื่อให้เส้นไหมเรียงตัว นำไปตากแห้ง เก็บไว้อย่าให้โดนฝุ่น

            2. การเตรียมน้ำย้อม

            2.1 อุปกรณ์ที่ใช้ในการย้อม
                  (1) หม้อย้อมควรใช้หม้อสแตนเลส หม้อเคลือบ หรือกระทะใบบัว ไม่ควรใช้หม้ออะลูมิเนียม และควรเลือกขนาดหม้อให้เหมาะสมกับการย้อมผ้า หรือเส้นด้าย
                  (2) ไม้กวนผ้า โดยไม้ควรมีขนาดใหญ่พอที่จะรับน้ำหนักเส้นด้ายเส้นเปียกในหม้อย้อมได้
                  (3) ห่วงที่ทำจากสแตนเลส หรือท่อพลาสติกอ่อน ไว้สำหรับแขวน หรือคล้องเส้นไหม/เส้นฝ้าย
                  (4) ถุงมือยาง เทอร์โมมิเตอร์ เขียง มีด ครก (สำหรับตำครั่ง) ราว (สำหรับตาก)
                  (5) กะละมัง หรือถังพลาสติก สำหรับล้างผ้า หรือเส้นด้ายก่อนย้อมและหลังย้อม
                  (6) เตาไฟจะเป็นเตาฟืน หรือเตาแก๊สก็ได้
           พืชที่ให้สีและสามารถนำมาผลิตสีเพื่อการย้อมนี้ มีได้ตั้งแต่ต้นหญ้าไปจนถึงต้นไม้ขนาดใหญ่และทุกส่วนของพืช ได้แก่ ใบ ดอก ผล ลำต้น เปลือก แก่น ราก หัวหรือเหง้าในดิน ซึ่งแต่ละชนิด แต่ละส่วนของพืชจะให้สีสันที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความอ่อน แก่ สด แห้ง ช่วงเวลา เดือน และฤดูกาลที่เก็บด้วย พืชที่ให้สีติดเส้นฝ้ายดีนั้นมักเป็นพืชที่ให้รสฝาด เพราะความฝาดจะมีฤทธิ์เป็นด่าง ข้อสังเกตง่ายๆ ของพืชที่ให้รสฝาด คือ ใบหรือดอกที่ถูกขยี้จะมียางติดมือ ถ้าเป็นผลหรือเปลือก หากใช้มีดขูดจะมียางออกมา ซึ่งเมื่อถูกกับอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ปริมาณของวัตถุดิบที่ต้องการสกัดสี
            2.2 ปริมาณของวัตถุดิบที่ต้องการสกัดสี
                  – กรณีที่ใช้วัตถุดิบให้สีเป็นใบไม้ จะใช้ใบไม้จำนวน 5 กิโลกรัมต่อฝ้าย/ ไหม 1 กิโลกรัม
                  – กรณีที่ใช้วัตถุดิบให้สีเป็นเปลือกไม้ จะใช้เปลือกไม้จำนวน 3 กิโลกรัมต่อฝ้าย/ ไหม 1 กิโลกรัม
            2.3 การเตรียมน้ำย้อม
                  (1) หากวัตถุดิบที่ให้เป็นสีจากเปลือกไม้ แก่นไม้ กิ่งไม้ เช่น แก่นฝางแดง แก่นขนุน เปลือกต้นประดู่ เป็นต้น ให้ทำการสับหรือผ่าให้เป็นชิ้นเล็กๆ
                  (2) ชั่งเปลือก/ ชิ้นไม้ที่สับเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 3 กิโลกรัม ใส่ลงในกะละมัง/ หม้อสแตนเลส เติมน้ำปริมาณ 20 ลิตร แล้วแช่ค้างคืนไว้
                  (3) นำกะละมัง/ หม้อสแตนเลส ที่แช่เปลือกไม้ ไปต้มให้เดือด ประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้สีที่อยู่ในเปลือก/ ชิ้นไม้ละลายออกมาให้มากที่สุด (ระหว่างต้ม หากน้ำลดลงให้เติมน้ำลงไปให้อยู่ในปริมาณเท่าเดิม) เมื่อครบเวลาใช้กระชอนตักเปลือก/ ชิ้นไม้ออก แล้วกรองน้ำสีด้วยผ้าขาวบาง
       
        3. การเตรียมสารช่วยย้อม หรือสารช่วยติดสี
            พืชแต่ละชนิดที่นำมาใช้ย้อมเส้นด้ายมีความสามารถในการติดสี ความคงทนต่อการขัดถูหรือความคงทนต่อแสงได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางชีวเคมีภายในของพืชและเส้นด้ายที่นำมาใช้ย้อม จึงต้องใช้สารช่วยย้อมมาเป็นตัวช่วยในการทำให้เส้นด้ายดูดซับสีได้ดี มีความคงทนต่อแสงและการขัดถูเพิ่มขึ้น ซึ่งคุณสมบัติสารช่วยย้อมนอกจากจะเป็นสารที่ช่วยในการยึดและจับสีแล้ว บางครั้งสารช่วยย้อมยังทำให้ได้เฉดสีใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม การใช้สารช่วยย้อมในการย้อมสี มี 3 วิธี คือ
            วิธีที่ 1 การใช้สารช่วยย้อมก่อนการย้อมสี เพื่อให้สีติดยึดแน่นกับเส้นด้ายและช่วยเพิ่มความคงทนของสี ทำได้โดยการนำเส้นด้ายที่ผ่านการทำความสะอาด แล้วไปชุบหรือต้มย้อมกับสารช่วยย้อมก่อนนำไปย้อมด้วยน้ำย้อมสีธรรมชาติ
            สารช่วยย้อมก่อนการย้อมสี ที่นิยมใช้มักเป็นพืชที่ให้สารฝาดหรือสารแทนนิน น้ำถั่วเหลือง เกลือแกง
            (1) สารแทนนิน ได้จากพืชที่ให้รสฝาดและขม เช่น ใบฝรั่ง ใบยูคาลิปตัส เปลือกสีเสียด เปลือกผลทับทิม เปลือกประดู่ ใบเหมือดแอ เป็นต้น ซึ่งสารดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยให้สีติดกับเส้นด้ายได้ดีขึ้น โดยการต้มสกัดน้ำฝาด หรือแทนนินจากพืชดังกล่าว แล้วนำเส้นด้ายลงไปต้มย้อมกับน้ำฝาดก่อน จากนั้นจึงนำเส้นด้ายไปย้อมกับน้ำสีย้อมอีกครั้ง
            (2) โปรตีนจากถั่วเหลือง ใช้ต้มกับเส้นด้ายก่อนการย้อมสี เพื่อช่วยในการเพิ่มโปรตีนบนเส้นด้าย ทำให้สามารถย้อมสีติดได้ดีมากขึ้น ทางญี่ปุ่นจะชุบฝ้ายไหมด้วยน้ำถั่วเหลืองก่อนเสมอ โดยแช่ไว้ 1 คืน ยิ่งทำให้สีติดมาก
            (3) เกลือแกง จะใช้ผสมกับน้ำสีย้อมเพื่อช่วยให้สีติดเส้นด้ายได้ง่ายขึ้น มักจะใช้ในกรณีที่ต้องการย้อมสีด้วยครั่ง
            วิธีที่ 2 การใช้สารช่วยย้อมพร้อมกับการย้อมสี วิธีนี้เป็นการใส่สารช่วยย้อมลงไปในน้ำสี ทำให้เกิดเม็ดสีขึ้น จากนั้นจึงนำเส้นด้ายลงไปย้อม

            วิธีที่ 3 การใช้สารช่วยย้อมหลังการย้อมสี เป็นการนำเส้นด้ายลงไปย้อมสีก่อนแล้วจึงนำไปชุบหรือย้อมด้วยสารช่วยย้อมในการภายหลัง วิธีการนี้จะช่วยทำให้เกิดเฉดสีใหม่ขึ้น

            ตัวอย่างสารช่วยย้อม หรือสารช่วยติดสี ได้แก่
            (1) สารส้ม มีคุณสมบัติช่วยจับยึดกับเส้นด้าย และช่วยให้สีสดสว่างขึ้น มักใช้กับการย้อมด้วยพืชที่ให้เฉดสีน้ำตาล-เหลือง-เขียว เช่น แก่นแข ใบหูกวาง เปลือกประดู่ เปลือกมะพร้าว เป็นต้น
       
        4. การย้อมสี
            การย้อมสีมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
            (1) นำน้ำย้อมที่ผ่านการกรองแล้ว มาตั้งไฟปานกลาง พอร้อนมีควันไม่ถึงกับเดือด ใส่สารช่วยย้อมสีอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องการ โดยการทดลองสีกันก่อน หากต้องการสารช่วยย้อมอย่างใดอย่างหนึ่งจึงลือกใส่ลงไปพร้อมน้ำย้อมที่ได้ โดยปริมาณการใช้สารช่วยย้อม มีดังนี้

                 – ถ้าต้องการใช้น้ำปูน เป็นสารช่วยย้อม จะใช้ปริมาณ 1/2 ขัน ต่อเส้นด้ายที่จะย้อม 1 กิโลกรัม

– ถ้าต้องการใช้น้ำด่าง เป็นสารช่วยย้อม จะใช้ปริมาณ 2 ขัน ต่อเส้นด้ายที่จะย้อม 1 กิโลกรัม

– ถ้าต้องการใช้สารส้ม เป็นสารช่วยย้อม จะใช้ปริมาณ 50 กรัม ต่อเส้นด้ายที่จะย้อม 1 กิโลกรัม

(2) นำเส้นด้ายที่จะย้อม ที่เตรียมไว้ (ทำความสะอาดแล้ว) ลงย้อมในน้ำสีนานประมาณ 1 ชั่วโมง ต้องหมั่นพลิกเส้นด้ายให้ถูกน้ำย้อมเสมอกันทุกๆ 10 นาที

(3) นำเส้นด้ายขึ้นผึ่งให้เย็น

– ถ้าเป็นเส้นฝ้าย/ผ้าฝ้าย ให้นำใส่ถุงพลาสติกปิดให้แน่นหมักไว้ 1 คืนก่อนแล้วค่อยเอาออกมาซักด้วยน้ำเปล่าจนน้ำที่ล้างนั้นใส

– ถ้าเป็นเส้นไหม เมื่อผึ่งให้แห้งแล้วซักด้วยน้ำเปล่าจนน้ำที่ล้างนั้นใส

(4) บิดเส้นด้ายที่ล้างสะอาดแล้วให้หมาด กระตุกให้ตึง 2-3 ครั้ว แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มจนแห้ง ถ้ายังไม่ทอควรนำไปเก็บไว้ในถุงเพื่อไม่ให้ฝุ่นเกาะและป้องกันสีซีด (บัญชีตารางสีย้อม)

การใช้สารช่วยย้อมหลังการย้อมสี โดยนำเส้นด้ายไปย้อมสีก่อน แล้วจึงนำไปย้อมกับสารช่วยย้อมภายหลัง วิธีการนี้จะช่วยทำให้เกิดเฉดสีใหม่ขึ้น โดยมีขั้นตอน คือ

– นำเส้นด้าย/ผ้า ที่ผ่านการย้อมสีที่บิดให้หมาดแล้วกระตุก 2-3 ครั้ง จึงนำมาขยำในน้ำสารช่วยย้อม เวลาใช้ขึ้นอยู่กับว่าต้องการสีเข้มหรือสีจาง โดยทั่วไปประมาณ 15-30 นาที แต่ถ้าเป็นแทนนินจากพืชจะใช้เวลาน้อย เช่น การย้อมฝางแล้วนำมาย้อมต่อในน้ำผลมะเกลือจะใช้เวลาประมาณ 1 นาที จะเปลี่ยนจากสีชมพูเป็นสหีบานเย็นนานกว่านี้จะเป็นสีมืด

– บิด เส้นด้าย/ผ้า ให้หมาดกระตุก 2-3 ครั้ง แล้วผึ่งให้แห้ง

– นำ เส้นด้าย/ผ้า ที่ผึ่งแห้งแล้วมาซักในน้ำสะอาดจนน้ำใส แล้วนำไปสะบัดโดยใช้แขนสองข้างดึงเส้นด้ายแล้วกระตุก 2-3 ครั้ง นำไปตากในที่ร่ม (เส้นไหม) หรือกลางแดด (เส้นฝ้าย)

ภาพการอบรมการย้อมผ้าไหมด้วยสีธรรมชาติ