โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ

BCG  (U2T for BCG ) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

นางสาว วรรณวรินทร์ ดีเลิศรัมย์ ประเภท ประชาชน

หลักสูตร :AG08-2  ตำบลบ้านดู่ อำเภอนาโพธิ์  จังหวัดบุรีรัมย์

เกษตรผสมผสาน

พื้นที่ตำบลบ้านดู่ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนการเกษตร ชาวบ้านในชุมชนยึดอาชีพทำนาซึ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษเป็นอาชีพหลัก เมื่อถึงฤดูฝนก็เพาะกล้า ดำนา หว่านข้าว เข้าฤดูหนาวก็เก็บเกี่ยวขึ้นยุ้งฉางแบ่งส่วนหนึ่งส่งขายให้โรงสี เปลี่ยนข้าวเปลือกให้กลายเป็นเงินใช้ซื้อผัก ปลา เสื้อผ้าอาหารที่ไม่สามารถผลิตได้เอง

หลายปีที่ผ่านมา ด้วยแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป ราคาข้าวเปลือกตกต่ำลงสวนทางกับข้าวของอื่น ๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้การเปลี่ยนข้าวเปลือกให้เป็นเงินเริ่มฝืดเคืองไม่เพียงพอต่อการซื้อปัจจัยอื่น ๆ ในการดำรงชีวิต ชาวบ้านที่ตำบลบ้านดู่จึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่เคยทำการเกษตรเชิงเดี่ยวคือการใช้ผืนดินทั้งหมดปลูกข้าวเพื่อส่งขายอย่างเดียวก็หันมายึดเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรในการดำเนินชีวิตเพื่อให้สามารพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น โดยชาวบ้านได้มีการแบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็นสัดส่วนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามอัตราส่วน 30:30:30:10

30% ขุดเป็นสระน้ำนอกจากจะขุดเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งแล้ว ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์จากบ่อในการเลี้ยงสัตว์น้ำ เลี้ยงปลาชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลานิล ปลาตะเพียน เพื่อใช้เป็นอาหาร

30% สำหรับปลูกข้าวในฤดูฝน ใช้เป็นอาหารในครัวเรือน

30% ปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น พืชสวน ผัก สมุนไพรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง กล้วย มะละกอ ข้าวโพด มะเขือ ข่า ตะไคร้

10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ โรงเรือนเพาะปลูก รวมไปถึงถนน คันดิน สวนไม้ดอกไม้ประดับ

ชาวบ้านเล่าว่าหลังจากที่ปรับเปลี่ยนผืนแผ่นดินทำกินให้เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้วสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากเพราะสามารถผลิตอาหารหลากหลายสำหรับบริโภคในครัวเรือนได้เองตลอดปี นอกจากนี้ ยังสามารถนำผลผลิตที่เหลือจากครัวเรือนส่งขายตามตลาดเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง