บทความ : การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายจากการย้อมด้วยสีธรรมชาติ

เขียนโดย : นางสาวอารียา โต๊ะไธสง  ประเภท : บัณฑิตจบใหม่  หลักสูตร : AG10-2

โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development)

——————————————————————————————————————————————————–

ข้าพเจ้า นางสาวอารียา โต๊ะไธสง ผู้ปฏิบัติงานในโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) ประเภทบัณฑิตจบใหม่ พื้นที่ตำบลบ้านเป้า อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการปฏิบัติงานของเดือนกันยายนนี้ ผู้ปฏิบัติงานได้ทำตามกำหนดแผนงานที่อาจารย์ประจำตำบลได้มอบหมายงานให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติ ดังนี้

การทอผ้าฝ้ายเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ผู้ทอได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ต่อมาได้ช่วยกันคิดค้นหาวิธีการเพิ่มมูลค่าผ้าทอโดยการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาสร้างคุณค่า โดยการนำพืชที่ให้สีและสามารถนำมาผลิตสีเพื่อการย้อมผ้า มีได้ตั้งแต่ ใบ ดอก ผล ลำต้น เปลือก แก่น ราก หัวหรือเหง้าในดิน ซึ่งแต่ละชนิดแต่ละส่วนของพืชจะให้สีสันที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความอ่อน ความแก่ และช่วงฤดูกาลที่เก็บเกี่ยวด้วย

กลุ่ม U2T For BCG ตำบลบ้านเป้า จึงได้เข้ามาส่งเสริมการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาผลิตสีย้อมผ้า โดยการจัดอบรมและเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เพิ่มเติมกับพี่น้องประชาชนในตำบลบ้านเป้า ด้วยวิธีการย้อมเส้นใยฝ้าย ซึ่งก่อนที่จะนำเส้นใยฝ้ายไปย้อมสี เราต้องกำจัดไขมัน สิ่งสกปรก รวมทั้งสารที่เคลือบติดเส้นด้ายออกไปเพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้สีย้อมติดเส้นด้ายไม่ดี ในการทำความสะอาดเส้นด้ายทำได้โดยละลายเกลือแกงกับน้ำแล้วนำฝ้ายลงแช่เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นนำไปต้มในน้ำเดือดที่ผสมน้ำยาล้างจานกับด่างฟอกเส้นด้าย กลับเส้นด้ายเป็นระยะ ๆ ต้มต่อไปอีกเป็นเวลา 30 นาที จึงนำเส้นด้ายขึ้นมาล้างด้วยน้ำสะอาด บิดหมาด ๆ และกระตุกเส้นด้าย 2-3 ครั้ง เพื่อให้เส้นด้ายเรียงตัวแล้วนำไปตากให้แห้ง

 

พืชแต่ละชนิดที่นำมาใช้ย้อมเส้นด้ายมีความคงทนต่อการขัดถูหรือความคงทนต่อแสงได้ไม่เท่ากัน เราจึงต้องใช้สารช่วยย้อมมาเป็นตัวช่วยในการทำให้เส้นด้ายดูดซับสีได้ดียิ่งขึ้น บางครั้งสารช่วยย้อมยังทำให้ได้เฉดสีใหม่อีกด้วย เช่น สารส้ม เกลือเหล็ก น้ำปูนใส น้ำด่าง น้ำบาดาล น้ำสนิมเหล็ก และน้ำโคลน หลังจากที่ทำการต้มย้อมฝ้ายด้วยสีธรรมชาติแล้วเราสามารถสร้างเฉดสีด้วยการใช้สารช่วยย้อม เช่น การย้อมฝ้ายด้วยดอกดาวเรืองจะได้สีเหลือง การย้อมฝ้ายด้วยใบสาบเสือจะได้สีเขียว การย้อมฝ้ายด้วยมะเกลือจะได้สีดำ เป็นต้น

นอกจากนี้ กลุ่ม U2T For BCG ตำบลบ้านเป้า ยังได้จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปเนื้อตาลสุกให้เป็นแป้งขนมตาลสำเร็จรูปแก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย โดยมีการปรับวิธีและขั้นตอนการผลิต รวมถึงไปคิดค้น ปรับปรุง และพัฒนาสูตรให้ผลิตภัณฑ์แป้งขนมตาลสำเร็จรูปสมบูรณ์แบบมากที่สุด

สิ่งที่ได้เรียนรู้ :

  1. ได้รู้จักการนำสิ่งต่าง ๆ ที่มีในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า
  2. ได้เรียนรู้กระบวนการผลิตสีจากพืชมาใช้ประโยชน์ในการย้อมผ้า
  3. ได้เรียนรู้วิธีการผสมสีธรรมชาติกับสารช่วยย้อมเพื่อให้เกิดเฉดสีใหม่
  4. ได้เรียนรู้กระบวนการย้อมสีผ้าฝ้ายด้วยสีธรรมชาติเพื่อจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน
  5. ได้ศึกษาวิธีการนำผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายออกขายในตลาดออนไลน์