โดย นางสาวอรลักศณีน์ เทวอนรัมย์ สมาชิก U2T ตาเสา (ประชาชนทั่วไป)
ชุมชนตำบลตาเสา ตั้งชื่อตามคนแรกที่มาอยู่ในชุมชนนี้ คือ นายเสา ตำบลตาเสาแยกมาจากตำบลสามแวง มีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน
เป็นที่ราบสูงมีหนองน้ำเรียกว่า “ หนองตาเสา” ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร
จากข้อมูลการสำรวจจริงขององค์การบริหารส่วนตำบลตาเสา ณ กันยายน 2561 คือมีประชากรที่อาศัยอยู่จริงและที่ทำงานอยู่นอกพื้นที่จำนวนทั้งสิ้น 5,172 คน 1,214 ครัวเรือน มีความหนาแน่นเฉลี่ย 146.6 คน/ตร.กม.
แบ่งเป็นชาย 2,551 คน และแบ่งเป็นหญิง 2,621 คน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ตำบลตาเสามีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 22,005.5 ไร่ หรือประมาณ 35.28 ตารางกิโลเมตร โดยมีเนื้อที่ทำภาคเกษตรกรรม ประมาณ 16,290 ไร่ หรือประมาณ 26.12 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 74 ของเนื้อที่ทั้งหมด และมีเนื้อที่พักอาศัย ธุรกิจการค้า สถานศึกษา สถานที่ราชการ ถนนและที่สาธารณะ อุตสาหกรรม แหล่งน้ำและอื่นๆ รวมประมาณ 5,715.5 ไร่ หรือประมาณ 9.16 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 26
ชุมชนตำบลตาเสา มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่9 มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประชาชนเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ มีนับถือศาสนาคริสต์เพียงไม่กี่คนเท่านั้น มี 3วัด 2โรงเรียน 1ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ประชากรในเขตตำบล ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ทำนา ทำไร่อ้อย นอกจากนั้นยังมีการประกอบอาชีพค้าขายในเขตชุมชนมีทั้งร้านอาหาร และร้านขายของชำ มีโรงสี ฟาร์มไก่ บริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ มีปั๊มน้ำมัน มีตลาดนัดวันพุธ และวันศุกร์ มีการเลี้ยงโคกระบือ สุกร ค่อนข้างแพร่หลาย
นอกจากนี้ยังมีโรงผลิตน้ำดื่มจากงบประมาณที่รัฐสนับสนุน(โครงการประชารัฐ)อยู่ 4 โรง ได้แก่ ม.1,2,3, 5 และมีโรงสีข้าวชุมชน2 โรงได้แก่ ม.6 และ ม.7 และยังมีกลุ่มสัมมาชีพชุมชนอีกหลายกลุ่ม ได้แก่
– กลุ่มทอผ้าไหมและผ้าด้าย ม.1 ม.2 ม.3 ม.4 ม.5 ม.7 ม.8 ม.9 และหมู่ 10 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความรู้ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นและมีหน่วยงานพัฒนาชุมชนออกมาให้ความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งลายโบราณและสมัยใหม่ให้ได้เลือกซื้อ และกำลังเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนสินค้า OTOP – กลุ่มทำน้ำพริก ม.1 – กลุ่มทำเบาะรองนั่ง ม.2
– – กลุ่มทำขนม ม.6 – กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า ม.9 – กลุ่มทำไม้กวาดทางมะพร้าว ม.10
2ปีที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องโรคระบาดโควิด19 ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจของประเทศไปในวงกว้าง หลายบริษัทปิดตัวลง ทำให้แรงงานตกงานต้องกลับมาอยู่บ้าน รวมทั้งคนในชุมชนตำบลตาเสาบางส่วนด้วย การค้าขายไม่คล่องตัว คนระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น รายได้ลดลง ข้าวของแพงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันและปุ๋ยเคมี แต่ราคาข้าวเปลือกซึ่งเป็นผลผลิตของอาชีพหลักของคนในชุมชนตำบลตาเสากลับตกต่ำลงมาก แล้วทำอย่างไรเราจะเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวเปลือกเราได้ คำตอบคือต้องมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวให้ได้
ซึ่งจากการลงพื้นที่และระดมความคิดของกลุ่ม U2T ตาเสาเราเห็นควรให้ยกระดับ2ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
1. ข้าวหอมมะลิ 105 และกข.15 ยกระดับให้เป็นเส้นขนมจีนกึ่งสำเร็จรูปกับน้ำยาผงพร้อมรับประทาน โดยข้าวหอมมะลินี้เป็นข้าวที่ผลิตได้มากที่สุดในตำบลและเป็นข้าวที่มีข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ว่าเป็นข้าวที่ปลูกบนดินภูเขาไฟ (ครอบคลุม7อำเภอของจังหวัดบุรีรัมย์รวมอำเภอห้วยราช) ซึ่งคุณภาพของข้าวจะสูงกว่าแหล่งอื่นสามารถเป็นจุดขายได้
2. ฟางข้าว ยกระดับให้เป็นบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้เขียน ในฐานะเป็นคนในพื้นที่ชุมชนตำบลตาเสา และเป็นหนึ่งในสมาชิก U2Tตาเสา (ประชาชนทั่วไป) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โอกาสที่ชุมชนตำบลตาเสาได้รับในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สามารถทำให้คนในชุมชนตำบลตาเสามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บรรลุตามวัตถุประสงค์ของ BCG