โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)

บทความประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565

ตำบลท่าม่วง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

คุณเชื่อม เยี่ยมรัมย์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ตำบลท่าม่วง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์  เกษตรกรที่เลี้ยงปลานิลมามากกว่า 20 ปี โดยเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ พร้อมทั้งลองผิดลองถูกด้วยตนเอง จนทำให้ประสบผลสำเร็จ ยึดการเลี้ยงปลานิลเป็นอาชีพหลัก เพราะสร้างรายได้ให้กับได้เป็นอย่างดี

ผู้ใหญ่เชื่อม เล่าให้ฟังว่า ชีวิตก่อนที่จะประสบผลสำเร็จเหมือนทุกวันนี้ ผมทำมาหลายอย่าง ไร่นาสวนผสมบ้าง เลี้ยงปลาเล็กๆ น้อยๆ บางทีก็ปลูกผักตามหัวคันนา รายได้นี่ถือว่าได้ไหม ก็พอได้ แต่มันน้อยมาก ต่อมาเลี้ยงเป็ดเลี้ยงหมูคือทุกอย่างล้มเหลวหมด เลยคิดว่าถ้าเราจะอยากมีเงินเก็บเยอะๆ ก็คงยาก เลยตัดสินใจกับภรรยาว่าจะหาอย่างอื่นทำ  ผมจึงตัดสินใจมาขุดบ่อเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ของตัวเองอย่างง่ายๆ ซึ่งบ่อที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงปลานิล ขนาดประมาณ 1-2 ไร่ ความลึกประมาณ 1.20-2 เมตรหรือตามความเหมาะสม ขอแค่ให้ง่ายเข้าไว้ การเตรียมบ่อจะโรยปูนขาวและที่สำคัญต้องกำจัดปลาที่เหลือออกให้หมด มิเช่นนั้นจะมากินลูกปลาเล็กจนหมดบ่อ จากนั้นปล่อยลูกปลานิลขนาดตัวเท่าใบมะขาม ในระยะนี้ให้กินอาหารลูกอ๊อด เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 1 เดือน จึงเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีโปรตีน โดยให้กินเช้าและเย็นจนกว่าจะจับจำหน่ายได้

ด้านการป้องกันโรค ผู้ใหญ่เชื่อมบอกว่าปลานิลที่เลี้ยงในบ่อดินไม่ค่อยเกิดปัญหามากนัก ซึ่งการเลี้ยงภายในบ่อไม่ค่อยมีโรคที่มากับน้ำเหมือนปลากระชังที่เลี้ยงในแม่น้ำ หากเจอโรคก็มีบางครั้งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างอากาศเปลี่ยนจะมีปลาตายบ้าง ผมก็จะเตรียมพร้อมรับมือโดยการแปรรูปเป็นปลานิลแดดเดียวขาย ในช่วงแรกที่เลี้ยงปลานิลในบ่อดินขนาดใหญ่เริ่มจำหน่ายได้ แม่ค้าที่มารับซื้อถึงบ่อไม่กล้าจับปลาไปขาย เพราะกลัวเหม็นกลิ่นโคลนและไม่น่าจะมีคนซื้อ ผมก็เอ้า! ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร เอาไปขายเองก็ได้ ซึ่งในตอนนี้ก็พากันกินปลาในบ่อดินกันหมด เพราะมันไม่ได้มีกลิ่นอย่างที่เข้าใจ สำหรับใครที่กำลังมองหาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้หรือสนใจอยากเลี้ยงปลา ผมแนะนำว่าถ้าคิดจะเลี้ยงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ แหล่งน้ำ ตรงที่ผมเลี้ยงนี่ถึงจะเป็นแหล่งน้ำที่ไม่ใหญ่ แต่ก็พอเลี้ยงได้ ซึ่งสำหรับผมว่าดีนะ เพราะผมเองทำเกษตรด้านอื่นๆ มาก็เยอะ แต่เห็นว่าเลี้ยงปลานิลนี่แหละผลตอบแทนใช้ได้เลย ใช้เวลาแค่ 5-7 เดือน เท่านั้น อีกอย่างคนจะทำเกษตรนี่อยากให้อดทน มันต้องทนรอได้ เดี๋ยวทุกอย่างมันก็ประสบผลสำเร็จเองครับ

ผู้เขียนบทความ นางสาวปวีณา สุนทรารักษ์

คณะวิทยาศาสตร์ SC13-2

ประชาชน

 

วีดีโอประจำตำบลท่าม่วง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์