ชาวบ้านบ้านโคกกลาง ตำบลเมืองฝาง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อทอผ้าไหม โดยชาวบ้านปลูกหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ซึ่งการปลูกหม่อนของชาวบ้านจะปล่อยให้ต้นหม่อนเจริญเติบโตเองตามธรรมชาติและจะไม่ใช้สารเคมีโดยเด็ดขาดเพราะสารเคมีจะตกค้างและมีผลกระทบต่อการเลี้ยงหนอนไหม ชาวบ้านบ้านโคกกลาง จะมีการทอผ้าไหมเป็นหลัก
หม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60
หม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 นั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus alba l. หม่อนสายพันธุ์นี้เกิดจากการที่ผู้อำนวยการสถานีทดลองหม่อนไหมบุรีรัมย์ (คุณเธียรศักดิ์ อริยะ) และผู้อำนวยการสถานีทดลองหม่อนไหมศรีสะเกษ (คุณไชยยงค์สำราญถิ่น) ได้นำท่อนพันธุ์หม่อนหมายเลข 44 มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตดี ใบใหญ่ หนา ข้อปล้องถี่ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง แต่มีข้อเสีย คือ ขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ปักชำในแปลงโดยตรงไม่ได้เพราะอัตราการออกรากต่ำ และหม่อนน้อย ซึ่งเป็นหม่อนพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย การเจริญเติบโตดี ขยายพันธุ์โดยการตัดกิ่งปักชำในแปลงได้โดยตรง ดังนั้น สถานีทดลองหม่อนไหมบุรีรัมย์ จึงได้นำหม่อนทั้ง 2 พันธุ์มาผสมพันธุ์กัน โดยมีเป้าหมายหลักในอันที่จะใช้ท่อนพันธุ์ปักชำหรือปลูกในแปลงโดยตรง จากการคัดเลือกลักษณะดีเด่นของหม่อนลูกผสมมากกว่า 36 พันธุ์ ปรากฏว่าหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 (บร. 9) เป็นพันธุ์ที่มีอัตราการออกรากดี ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ลักษณะใบอ่อนนุ่มเหมาะแก่การเลี้ยงไหมเป็นอย่างมาก
ไหมเป็นแมลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (completely metamorphosis insect) แบ่งออกเป็น 4 ระยะได้แก่ ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และผีเสื้อ วงจรชีวิตไหมจะเริ่มต้นจากไข่ ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 9-10 วัน กลายเป็นหนอนไหม ในระยะนี้หนอนไหมจะกินใบหม่อนเป็นอาหาร และนอนประมาณ 4-5 ช่วง ใช้เวลาประมาณ 22-26 วัน พอหนอนไหมแก่ หรือสุกจะชักใยทำรังหุ้มตัวเอง ตัวไหมจะลอกคราบเป็นตัวดักแด้อยู่ในรัง ช่วงเป็นรังไหมใช้เวลาประมาณ 8-10 วัน จากนั้นดักแด้ก็จะกลายเป็นผีเสื้อ ผีเสื้อไหมจะใช้น้ำลายซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างละลายใยไหม และเจาะรังไหมออกมาผสมพันธุ์และวางไข่ โดยจะมีชีวิตอยู่ในช่วงนี้ประมาณ 2-3 วัน ก็จะตาย
เส้นไหมที่ชาวบ้านบ้านโคกกลางนำมาทอเป็นผืนผ้านั้น ส่วนหนึ่งได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของชาวบ้านเองโดยชาวบ้านบ้านโคกกลางจะเลี้ยงหนอนไหมสายพันธุ์นางน้อย ชื่อไหมพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่จะมีคำว่า “นาง” นำหน้า เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงจะเรียกชื่อตามผู้ที่เลี้ยงคนก่อนที่เลี้ยงมาอย่างต่อเนื่องจนได้ผลดี และมีคุณสมบัติดีเด่นเฉพาะตัว เกษตรกรจึงให้เกียรติแก่เจ้าของพันธุ์ โดยการเรียกชื่อเจ้าของซึ่งส่วนใหญ่จึงใช้คำว่า “นาง” นำหน้าและต่อด้วยผู้เลี้ยงมาตั้งเป็นชื่อพันธุ์ไหมเช่น นางเหลือง นางเขียว นางลิ่ว นางน้อย นางน้ำ เป็นต้น
การเตรียมการก่อนการเลี้ยงไหม
1.อุปกรณ์การเลี้ยงไหม เช่น กระด้งเลี้ยงไหม มีด เขียง ตาข่ายถ่ายมูล จ่อ ตะแกรงร่อน ตะเกียง ถังน้ำ เข่งหรือตะกร้าเก็บใบหม่อน รองเท้าแตะ สารโรยตัวไหม ปูนขาว เป็นต้น
2. ห้องเลี้ยงไหม สำหรับในส่วนของอุปกรณ์และห้องเลี้ยงไหมจะต้องทำความสะอาดโดยการล้างด้วยผงซักฟอกและตากแห้ง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค และเป็นวิธีการป้องกันกำจัดโรคที่ดีที่สุด ชาวบ้านสมพรรัตน์ส่วนใหญ่จะทำโรงเรือนไว้ใต้ถุนบ้าน มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และคลุมด้วยมุ้งไนล่อนเพื่อป้องกันแมลง
3.ไข่ไหม ไข่ไหมพันธุ์ดี ส่วนใหญ่ชาวบ้านบ้านโคกกลางจะเลี้ยงหนอนไหมพันธุ์นางน้อย
ใบหม่อนที่เหมาะสมกับไหมวัยอ่อน
1.ใบหม่อนสำหรับไหมแรกฟัก (วัย 1 วันที่ 1/ไหมแรกฟัก) ใช้หม่อนใบที่ 1–2 โดยนับใบที่คลี่แผ่นใบรับแสงมากที่สุดเป็นใบที่ 1 หั่นละเอียดก่อนนำไปเลี้ยงหนอนไหม
2. ใบหม่อนสำหรับไหมวัย 1 ใช้ใบหม่อนใบที่ 1–3 เท่านั้น และหั่นละเอียดก่อนนำไปเลี้ยงหนอนไหม
3. ใบหม่อนสำหรับไหมวัย 2 ใช้ใบหม่อนใบที่ 4–6 หรือสังเกตจากตาหม่อน โดยตาหม่อนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจะใช้ส่วนนี้ขึ้นไปถึงยอดอาจเก็บโดยการตัดหรือเด็ดใบก็ได้ และห้ามใช้ยอดหม่อนอ่อน (ใบหม่อนที่ยังไม่คลี่แผ่นใบ) นำมาหั่นขนาดประมาณ 1 ซม. ก่อนนำไปเลี้ยง
4. ใบหม่อนสำหรับไหมวัย 3 ให้สังเกตจากสีของกิ่งหม่อนช่วงรอยต่อระหว่างสีเขียวกับสีน้ำตาล ใบหม่อนบริเวณรอยต่อเป็นใบหม่อนที่เหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงไหมวัย 3 ประมาณใบที่ 7–10 นำมาหั่นขนาดประมาณ 1 ซม. ก่อนนำไปเลี้ยง
การเลี้ยงไหมวัยแก่
การเลี้ยงไหมวัยแก่ หมายถึง การเลี้ยงไหมนับตั้งแต่หนอนไหมตื่นจากนอนวัย 3 จนถึงไหมสุกทำรังซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 11 – 13 วัน หนอนไหมวัยแก่จะกินใบหม่อนปริมาณมาก ทำให้เกิดความร้อนความชื้น และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเกิดจากการเผาผลาญอาหาร การหายใจ การขับถ่ายของเสีย ห้องเลี้ยงไหมจึงอาจมีอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น ทำให้หนอนไหมอ่อนแอและเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย เทคนิคการเลี้ยงไหมที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงไหมวัยแก่ คือ คัดและเก็บหนอนไหมที่มีลักษณะผิดปกติ เป็นโรค แคระแกรน หรือไม่สมบูรณ์ ก่อนการเลี้ยงไหมทุกครั้ง
การเลี้ยงไหมวัยแก่มี 2 วิธี คือ
- การเลี้ยงในกระด้งหรือกระบะ เป็นวิธีที่ปฏิบัติมาดั้งเดิม ภายในห้องเลี้ยงไหมจะมีชั้นวางกระด้งหรือกระบะ วิธีการเลี้ยงไหมจะใช้วิธีเก็บใบหม่อนที่ค่อนข้างแก่ มีสีเขียวเข้ม มาโรยให้หนอนไหมกิน วิธีนี้ทำให้เปลืองพื้นที่และเสียเวลาในการเลี้ยงไหม
- การเลี้ยงไหมแบบชั้นเลี้ยง เป็นวิธีการเลี้ยงไหมแผนใหม่ เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดพื้นที่โรงเลี้ยงไหม ทำให้เลี้ยงไหมได้ปริมาณมาก สะดวก และประหยัดแรงงาน โดยชั้นเลี้ยงไหมจะทำด้วยไม้หรือเหล็ก วิธีการเลี้ยงไหมจะใช้วิธีการตัดกิ่งหม่อนเลี้ยงไหมทั้งกิ่ง
การเก็บไหมสุก
ระยะที่ 5 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายใช้เวลาประมาณ 7-8 วันเป็นระยะที่หนอนไหมกินใบหม่อนมากเมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีต่อมไหมเกิดขึ้นภายในตัวไหม ทำให้ตัวหนอนไหมมีสีเหลืองเรียกว่า “ไหมสุก” ตัวไหมสุกจะมีลำตัวสั้นและเล็กลงเล็กน้อย ตัวโตใสและหยุดกินใบหมอนเริ่มชูหัวส่ายหาที่ทำรัง ตัวหนอนไหมที่สุกเต็มที่จะถูกเก็บรักษาเข้า “จ่อ” เพื่อชักใยทำรังเป็น ”รังไหม” ที่เรานำมาสาวเส้นใยนำไปทอเป็นผ้าไหม