การทอเสื่อกก

      ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี  แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน  เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอน  หรือทำธุรกรรมต่างๆ  ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ

เสื่อกก  เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ  ทั้งนี้เพราะต้นกกเป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำต้นกกมาแปรสภาพก็มีลักษณะคล้ายกัน หรือได้อิทธิพลทางความคิดจากกันและกัน ทำให้เสื่อกกถูกจัดได้ว่าเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่ง  ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในอดีต

แม้ปัจจุบันกระแสความนิยมในการใช้เสื่อกกจะลดลง ค่านิยมในการทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมของคนรุ่นใหม่มีมาอย่างต่อเนื่อง  แต่ผลิตภัณฑ์เสื่อกกตำบลเมืองฝางก็ยังมีการทำออกมาอย่างไม่ขาดสาย  เพราะคนหนุ่มคนสาวถึงแม้จะอยู่ที่โรงงาน  แต่คนแก่คนเฒ่าที่เฝ้าบ้านรอการเก็บเกี่ยวผลิตผลด้านการเกษตร ต่างไม่ปล่อยเวลาว่างให้ผ่านไปโดยสูญเปล่า  การทอเสื่อกกของชุมชนจึงยังคงอยู่ได้เสมอมาจนถึงวันนี้

เมื่อก่อนการทอเสื่อ เป็นไปเพื่อการใช้สอยในครัวเรือน  โดยท้องถิ่นใดมีต้นกกก็ทอเสื่อกก  ท้องถิ่นใดมีต้นกระจูดก็ทอเสื่อกระจูด  เสื่อในอดีตเป็นของใช้ที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับปูนั่งหรือนอน  จนถึงกับมีคำกล่าวว่า  บ้านไหนไม่มีเสื่อใช้  ถือว่า พ่อ แม่ ลูก เกียจคร้านไม่มีฝีมือ  หนุ่มสาวที่แต่งงานตั้งครอบครัวใหม่หรือขึ้นเรือนใหม่ จะต้องเตรียมที่นอนหมอน มุ้ง  ส่วนเสื่อฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมทอสะสมไว้เป็นของขึ้นเรือน  นอกจากนี้ยังทอเพื่อถวายเป็นไทยทานให้กับวัด  เพื่อบำรุงศาสนาในฤดูเทศกาลต่างๆ  และยังนำเสื่อที่ทอไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย