พิธีกวนข้าวทิพย์
พิธีกวนข้าวทิพย์ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในหมู่ของชาวพุทธทั่วไป เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหตุการณ์ที่นางสุชาดาได้กวนข้าวทิพย์ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ แล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ ๑ วัน โดยถือว่ามีผลานิสงฆ์มาก ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงพร้อมใจกันกวนข้าวทิพย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เทิดทูนพระเกียรติคุณด้วยความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ข้าวทิพย์มธุปายาสนี้เชื่อกันว่า เมื่อทำครบถ้วนตามพิธีแล้ว จะเป็นสิริมงคลแด่ผู้ทำและผู้บริโภค สมควรจะเซ่นสรวงเทพารักษ์ ผู้ที่ได้บริโภคข้าวทิพย์แล้ว จะประสบโชคลาภต่างๆ นานา ปราศจากโรคาพยาธิ ภัยพิบัติ ประสบสิ่งที่เป็นมงคล

พิธีกรรม
วัตถุที่กวน ได้แก่ น้ำนมโคสด (ปัจจุบันใช้นมข้นหวานแทน) น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ชะเอมเทศ น้ำตาลกรวด น้ำตาลหม้อ ข้าวตอก ข้าวเม่า ธัญพืชต่าง ๆ ที่คั่วสุก ถั่ว งา ลูกเดือย เมล็ดแตง เผือกมัน เมล็ดบัว มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ผลไม้สด ผลไม้แห้ง เช่น มะม่วง กล้วย ทุเรียน ละมุด ลำไย ส้ม ขนุน เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมเท่าที่จะหาได้หรือปรับปรุงให้มีรสชาติ หอมหวาน อร่อย ตามความต้องการของผู้กวนในแต่ละท้องถิ่น บางท้องที่อาจใช้ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มี การจัดเตรียมการในพิธีกวนข้าวทิพย์ ต้องจัดเตรียมสิ่งสำคัญ ดังนี้ ต้องปลูกโรงพิธีขึ้น ๑ หลัง ให้กว้างใหญ่พอสมควร เพื่อตั้งโต๊ะบูชาพระพุทธรูป อาสน์สงฆ์ โต๊ะบูชาเทวรูป และที่ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธี คือ พราหมณ์ โหร (ผู้ที่มีความรู้ในพิธีกรรมอย่างดี) เทพยดา นางฟ้า นางสุชาดา สาวพรหมจารี และทายก ทายิกา ฯลฯ นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และก่อเตาตั้งกะทะกวนภายในโรงพิธี จัดหาพายสำหรับกวนกะทะละ ๓ เล่ม จัดหาฟืนให้เพียงพอและตากให้แห้งสนิท โรงพิธีทาสีขาว เครื่องประดับตกแต่งควรใช้เครื่องขาว ตั้งราชวัฏ ฉัตร ธง ผูกต้นกล้วย อ้อย ทั้ง ๔ มุม หรือครบ ๘ ทิศยิ่งดี แล้วยกศาลเพียงตาขึ้นไว้ในทิศที่เป็นศรีของวัน คือ ทิศที่เทวดาสถิตในวันกวน ตั้งเครื่องสังเวย คือ หัวหมู บายศรี เป็ด ไก่ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว มะพร้าวอ่อน กล้วย และมีการจัดที่นั่ง การให้โหร นั่ง ๑ ที่ และจัดให้เทวดาและนางฟ้านั่งเรียงแถวหน้ากระดานดังนี้
แถวที่ ๑ จัดให้ท้าวมหาพรหมกับพระอินทร์นั่งข้างหน้า
แถวที่ ๒ มหาราชทั้งสี่
แถวที่ ๓ นางฟ้า
แถวที่ ๔ นางสุชาดา นั่งข้างหน้าสาวพรหมจารี
– จัดเตรียมตะลอมพอก หรือยอดเทวดา ๖ ยอด ที่สมมติว่าเป็นท้าวมหาพรหม พระอินทร์ (ท้าวสักกะ) ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ ท้าวเวสวัณ มงกุฎนางฟ้า ๔ และมงคลสวมศีรษะสาวพรหมจารี ใช้มงคลด้ายแบบมงคล ตัดจุก หรือใช้ดอกมะลิร้อยให้เป็นวงกลม เรียก มงคลดอกไม้ ให้ครบจำนวนเตาละ ๒ คน สมมติว่าเป็นบริวารของนางสุชาดา

ศาสนพิธี
จัดที่บูชา ๒ ที่ คือ
-โต๊ะบูชาพระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือ ถ้าสถานที่ไม่อำนวย มีไม้มหาโพธิ์ใส่กระถางตั้งไว้ด้านหลังพระพุทธรูป ส่วนประกอบอื่นเหมือนการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาทั่วไป
-โต๊ะบูชาเทวรูป มีพระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ เป็นต้น สุดแต่จะหาได้ พระฤาษี ๕ ตน ถ้าหายากก็ต้องให้ได้อย่างน้อย ๑ ตน สมมติเป็นฤาษีกไลยโกฏ มีเครื่องบูชาเช่นเดียวกัน จัดตั้งอาสนะสงฆ์ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปให้สูงกว่าพื้นที่สัปบุรุษทายกทายิกา และผู้เข้าร่วมพิธีนั่ง

การแต่งกาย
โหราจารย์ นุ่งผ้าขาวโจงกระเบน สวมเสื้อชั้นในชั้นนอกสีขาว แขนยาว มีสไบเฉียง ๑ ผืน ถ้ามีเสื้อครุยให้สวมเสื้อครุยแทนสไบเฉียง ส่วนเทวดาก็แต่งตัวเหมือนกับโหราจารย์
นางฟ้า ควรเลือกสตรีสาวรูปงาม นุ่งผ้าจีบ ห่มสไบเฉียง สวมมงกุฎ
นางสุชาดาและสาวพรหมจารี แต่งชุดขาวทั้งชุด นุ่งผ้าจีบ ห่มสไบเฉียง โดยนางสุชาดาควรเป็นหญิงที่มีสามีแล้ว แต่สาวพรหมจารีควรเป็นเด็กหญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน หรือสตรีที่ยังไม่เคยต้องประเวณี และต้องกราบพระเป็นและรับศีลได้ แต่จะพบว่าปัจจุบัน ความเคร่งครัดในเรื่องการแต่งกายได้ลดน้อยลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ ผู้เข้าร่วมพิธีจึงแต่งกายสวยงามตามสมัยนิยมแทนก็มี
พระปริตรใช้สวดในพิธี ได้แก่ เจ็ดตำนาน ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร และมหาสมยสูตร เจ็ดตำนานกับธรรมจักรกัปปวัตนสูตรใช้สวดก่อนทำพิธีกวน มหาสมยสูตรสวดเมื่อกำลังกวน ปี่พาทย์และฆ้องชัย ปี่พาทย์บรรเลงเมื่อก่อนเจริญพระพุทธมนต์แล เมื่อจบแล้ว เมื่อสวมตะลอมพอกหรือสวมยอดมงกุฎแลมงคล เมื่อพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เมื่อออกเวียนทักษิณรอบโรงพิธี และเมื่อเทน้ำนมหรือเครื่องกวนลงในกะทะ ฆ้องชัยตีเมื่อประกาศเชิญเทวดา เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์จบทุกๆ บท เมื่อสวมตะลอมพอกมงกุฎแลมงคล และเมื่อนางสุชาดาเทน้ำนมและเครื่องกวนลงในกะทะ
กำหนดพิธี
ในสมัยโบราณจะทำพิธี ๒ วัน คือ
พิธีตอนเย็น มีการสวดพระพุทธมนต์ (สวดมนต์เย็น) ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เจ็ดตำนานและธรรมจักรฯ
พิธีตอนเช้า วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อก่อนจะถึงเวลากวน จะมีพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์รวมกัน และจะทำการกวนจนเสร็จ ในกรณีที่มีการกวนจำนวนมากหลายกะทะ พอรุ่งเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ จัดถวายเป็นพุทธบูชาและถวายพระสงฆ์
ในปัจจุบันนิยมทำเสร็จภายในวันเดียว คือ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ตอนเช้าจะมีการเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งพิธีพราหมณ์และพุทธ หลังจากนั้นก็จะทำพิธีกวนไปจนเสร็จ ซึ่งอาจเสร็จสิ้นในเวลากลางคืน พอรุ่งเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก็จะทำพิธีถวายเป็นพุทธบูชา ถวายพระสงฆ์และแจกจ่ายแก่ผู้ร่วมพิธีหรือบุคคลทั่วไป
สาระ
ประเพณีกวนข้าวทิพย์จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความศรัทธาความเชื่อที่ยังมีอยู่ของประชาชนทั่วไป และผู้นำในชุมชนที่จะร่วมมือกันอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ เพราะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนจำนวนมาก ในการเตรียมการ การจัดหาอุปกรณ์ในการกวน แรงงานในการกวน และการเตรียมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินที่ใช้ในการจัดซื้อจัดหาสิ่งของต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลข้างต้นในปัจจุบันบางวัด บางท้องที่จึงเลิกประเพณีกวนข้าวทิพย์นี้ไป เพราะขาดความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ