ลงพื้นที่เก็บข้อมูลหมู่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านยางน้ำใส ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

กระผมนายณพัฐรชานน วงศ์สุรินทร์  ผู้ปฏิบัติงานตำแหน่งงาน ประชาชน

ผู้ปฏิบัติงานในโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)

กลุ่มของ SC05-1 ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

รายละเอียดการปฏิบัติหน้าที่ดำเนินงาน ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 

             จากการที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล จากการให้สัมภาษณ์ผู้นำหมู่บ้าน นายวันชัย พวงทอง และประชาชนในหมู่บ้าน ได้ข้อมูลมาดังต่อไปนี้ ประวัติความเป็นมา บ้านยางน้ำใส ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2445 โดยนายเนะ (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยในบริเวณนี้ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งน้ำและอาหาร สามารถทำการเกษตรได้ จึงได้เรียกชื่อว่า “ยางน้ำใส” ซึ่งมีที่มาคือ อดีตมีต้นยางนาเป็นจำนวนมาก และมีหนองน้ำที่ใสสะอาด สามารถนำไปใช้อุปโภคบริโภคได้ ตลอดจนใช้ในทางด้านการเกษตรได้ จึงเป็นชื่อที่ประสมกันระหว่างต้นยางนาและหนองน้ำใส จึงเป็นชื่อว่า”บ้านยางน้ำใส” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2445 เป็นต้นมา ในอดีตประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งมีการใช้แรงงานภายในครอบครัวเป็นหลัก มีความสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ ทำให้มีผลผลิตและแรงงานเกษตรได้จำนวนมาก

             บ้านยางน้ำใส หมู่ที่ 7 ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอสตึก เป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นระยะทาง 42 กิโลเมตร บริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านจึงเหมาะแก่การทำการเกษตร มีลักษณะสภาพอากาศโดยรวมร้อนชื้น สภาพของดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย มีแหล่งน้ำที่สำคัญคือ กุดน้ำใส ส่วนใหญ่ปลูกข้าว นอกจากนั้นยัง มีการปลูกยางพารา แต่มีพื้นที่ปลูกไม่มากนัก และพื้นที่ลุ่มเป็นพื้นที่ปลูกข้าวและพืชหลังนา เช่น ผักสวนครัว เป็นต้น ปัจจุบันบ้านยางน้ำใส มีสมาชิกในหมู่บ้านจำนวน 318 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรทั้งหมด 908 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 443 คน เพศหญิงจำนวน 465 คน ผู้ใหญ่บ้าน คือ นายวันชัย พวงทอง และผู้ใหญ่บ้านจำนวนสองท่าน พร้อมทั้งคณะกรรมการชุมชน ภายใต้การดูแลด้านการบริหาร โดยองค์การบริหารส่วนตำบลเทศบาลศรีสตึก

ด้านภาษา ที่ใช้ในการสื่อสารคือ ภาษาเขมร ภาษาส่วย และภาษาลาว ปัจจุบันจึงมีทั้งหมด 3 ภาษา

ด้านประเพณี บุญประเพณีต่าง ๆ บุญเดือนสาม บุญข้าวจี่ บุญเดือนห้า บุญเบิก บุญเดือนหก การเลี้ยงปู่ตา

ด้านภูมิปัญญา มีการจับสัตว์น้ำ ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่มีถิ่นฐานอยู่ใกล้แหล่งน้ำจึงมาการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือสำหรับจับสัตว์ การทอเสื่อกกด้านการแปรรูปอาหาร มีวิธีการแปรรูปอาหารในรูปแบบต่าง ๆ

การลงพื้นที่ครั้งนี้ก็ทำให้ได้รู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการไปนำวิเคราะห์เพื่อวางแผนพัฒนา ส่งเสริมและยกระดับคนในชุมชนและต่อยอดผลิตภัณฑ์สินค้าสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้น