ข้าพเจ้า น.ส.พิมพ์ลภัส ภาษิต ผู้ปฏิบัติงานภาคประชาชน ต.เย้ยปราสาท อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

สืบเนื่องจากเดือนที่แล้ว(เดือนกรกฎาคม)ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นมัลเบอร์รี่หรือต้นหม่อนมาแล้วนั้น ทางกลุ่มได้ข้อสรุปที่จะทำผลิตภัณฑ์ขนมสาหร่ายจากใบหม่อนและกระดาษสาจากต้นและเปลือกหม่อน จึงได้เกิดกิจกรรมในเดือนนี้ขึ้นมา ซึ่งทางกลุ่มได้มีการทำการทดลองการทำทั้งสองโครงการ เพื่อให้ทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานจริง จึงได้ทำการนัดหมายสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด 10 ท่าน เพื่อร่วมกันดำเนินงานครั้งนี้

วันที่ 1 สิงหาคม 2565  เวลา 9.30 น. สมาชิกทั้ง10 ท่านเดินทางมาพร้อมเพรียงกันที่บ้านของ น.ส.วรรณภา มานะชัยตระกูล หมู่ 1 ต.เย้ยปราสาท อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินงานดังนี้

กิจกรรมที่ 1.การทำกระดาษสาจากต้นอ่อนและเปลือกของต้นมัลเบอร์รี่(ต้นหม่อน)

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้

1.เครื่องสับละเอียด    2.ลำต้นอ่อนและเปลือกของต้นหม่อน   3.หม้อสำหรับต้ม  4. แม่พิมพ์กระดาษสา  5.โซดาไฟ   6.กาว    7.ดอกไม้สำหรับตกแต่ง

ขั้นตอนและวิธีการ

1.นำต้นหม่อนที่เป็นต้นอ่อน ถ้าเป็นต้นแก่ให้ลอกเอาแต่เปลือกนำมาสับให้ละเอียดหรือเป็นชิ้นเล็กๆ

2.ละลายโซดาไฟกับน้ำที่จะใช้ต้ม แล้วตั้งไฟ ใส่ต้นหม่อนที่สับลงไปคนเรื่อยๆ ประมาน 2-3 ชม.เพื่อให้ต้นหม่อนเปื่อยเป็นเยื่อกระดาษ

3.เมื่อต้นหม่อนเปื่อยยุ้ยแล้วให้เทน้ำที่ต้มออกแล้วล้างเนื้อต้นหม่อนที่ได้ด้วยน้ำสะอาด

4.นำแม่พิมพ์ที่จะใช้ลงไปแช่ในภาชนะที่ใหญ่กว่าพิมพ์แล้วนำเนื้อกระดาษที่ได้ใส่ลงแม่พิมพ์ เกลี่ยเนื้อกระดาษให้เรียบ ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้เสร็จแล้วนำไปตาก

5.เมื่อกระดาษแห้งสนิทดีแล้วให้แกะกระดาษออกจากพิมพ์เราก็จะได้กระดาษสาไว้ใช้แล้ว

 

กิจกรรมที่ 2.สาหร่ายมัลเบอร์รี่(ใบหม่อน)

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้

1. ใบหม่อน (นำก้านใบออกแล้ว) 150 กรัม
2. น้ำ(ส่วนที่1)  100 มิลลิลิตร
3. แป้งมันสำปะหลัง 15 กรัม
4. แป้งข้าวเหนียว 5 กรัม
5. แป้งสาลีอเนกประสงค์ 10 กรัม
6.น้ำ(ส่วนที่ 2 ) 100 มิลลิลิตร
7. น้ำมันสำหรับทอดสาหร่าย
8. เครื่องปั่น                                                                                                                                                                                         9. กระทะสำหรับทอดสาหร่าย

ขั้นตอนและวิธีการ

ส่วนที่ 1  มีขั้นตอนดังนี้

1.ล้างใบหม่อนให้สะอาด นำไปลวกกับน้ำร้อน 3 นาที แล้วแช่น้ำเย็นเผื่อให้ใบคงสภาพสีเขียว จากนั้นนำใบหม่อนที่ได้ปั่นในเครื่องปั่นเติมน้ำส่วนที่1 ลงไปแล้วปั่นให้ละเอียดเสร็จแล้วตักออกพักไว้

2.นำส่วนผสมอื่นๆที่เตรียมไว้ เช่น แป้งมันสัมปะหลัง แป้งข้าวเหนียว แป้งสาลีอเนกประสงค์ ผสมน้ำส่วนที่ 2 แล้วคนให้เข้ากัน

3.น้ำแป้งที่คนเข้ากันดีแล้วผสมกับใบหม่อนที่ปั่นไว้ คลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง พร้อมทั้งตั้งไฟแล้วคนต่่อเนื่องจนกว่าแป้งจะสุก (ห้ามไหม้) ถ้าสุกแล้วพักไว้ให้เย็นก่อน

4.เมื่อเนื้อสาหร่ายเย็นแล้ว ให้นำไปเกลี่ยบนถุงร้อนที่รองด้วยภาชนะสำหรับตากให้แห้ง ควรเกลี่ยเนื้อสาหร่ายให้เรียบสม่ำเสมอกัน เพราะเวลาตากจะได้แห้งพร้อมกัน

5.เมื่อแผ่นสาหร่ายแห้งสนิทแล้ว ให้นำถุงร้อนที่รองออกและทำการตัดแบ่งเป็นชิ้นพอประมานให้สวยงาม

6.ตั้งกระทะใส่น้ำมันพอร้อน นำแผ่นสาหร่ายลงไปทอด พอสุกตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน เป็นอันเสร็จขั้นตอนและสามารถนำมารับประทานได้แล้วค่ะ

 

วันที่ 3 สิงหาคม 2565  เวลา 10.00 น. ได้ประชุมแบ่งกลุ่มเพื่อสำรวจข้อมูล TCD โดยตำบลเย้ยปราสาทแบ่งเป็น2 ทีมๆละ 5 คน ให้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลแต่ละหมู่บ้านในตำบล  ซึ่งข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่หาข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค -8 ส.ค. 65 รวบรวมข้อมูลได้ทั้งหมด 50 รายการ

 

วันที่ 17 สิงหาคม 2565  เวลา 9.30 น. คณะผู้ปฏิบัติงานและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการได้เดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลเย้ยปราสาท เพื่อเข้าพบนายทวีศักดิ์ ปรูกระโทก นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อปรึกษาหารือแนวทางในการดำเนินโครงการนี้ ในการจัดการประชุมขึ้นที่หมู่ 5 บ้านขามน้อย ระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม และวันที่ 3-4 กันยายน ที่จะถึงนี้ โดยได้รับการสนันสนุนและตอบรับจากท่านนายกเป็นอย่างดี ทั้งนี้จึงได้ขอความอนุเคราะห์ขอใช้พื้นที่ตลาดชุมชนเพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ที่จะได้ดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป

วีดีโอประจำเดือนสิงหาคม