ข้าพเจ้านางสาวปารียา หมั่นคง ประเภทประชาชน ปฏิบัติงานประจำตำบลหนองกี่ อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หลักสูตร ED19-2 คณะครุศาสตร์ ประจำเดือนกันยายน

คุณประเสริฐ เล่าให้ฟังว่า เหตุผลที่เลือกเลี้ยงแพะ เพราะมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งการมีลูกเร็ว ลงทุนน้อย ขายได้เร็ว ใช้พื้นที่เลี้ยงเพียงเล็กน้อยจึงมีต้นทุนการเลี้ยงไม่มากเมื่อเทียบกับการเลี้ยงโค แพะช่วยกำจัดวัชพืชในสวน และตลาดยังมีความต้องการตลอดเวลา บวกกับพื้นที่บ้านอยู่ห่างไกลจากชุมชน ไม่รบกวนเพื่อนบ้าน และที่สำคัญการเลี้ยงแพะการจัดการระบบต่างๆ สามารถทำได้ง่าย เพราะแพะเป็นสัตว์เล็ก อีกทั้งยังสามารถนำมูลแพะมาใช้กับต้นปาล์มน้ำมันเพื่อช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมีและมีชาวบ้านนำไปใช้ผสมกับวัสดุอื่นเพื่อทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้กับพืชผลทางการเกษตร โดยขายให้ชาวบ้านกระสอบละ 40 บาท เนื่องจากมูลแพะมีธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืช มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ค่อนข้างมาก

ในช่วงแรก เริ่มต้นจากแพะตัวเมีย 7 ตัว พร้อมกับพ่อพันธุ์ 1 ตัว เพื่อเป็นการทดลองและเรียนรู้อุปนิสัยของแพะไปพร้อมกัน ต่อมาเมื่อการเลี้ยงประสบผลสำเร็จไม่เกิดปัญหาจากการเลี้ยง จึงค่อยๆ ขยายพันธุ์ให้มีจำนวนมากขึ้น

โรงเรือนมีขนาด 4×8 เมตร ยกใต้ถุนสูงจากพื้นดินประมาณ 1.20 เมตร ส่วนโรงเรือนมีขนาด 4×8 เมตร และมีการต่อเติมโรงเรือนเมื่อมีปริมาณแพะเพิ่มมากขึ้น ภายในโรงเรือนจะแบ่งเป็นคอกๆ เป็นสัดส่วนและใช้เป็นคอกอนุบาลด้วย

 

“แพะตัวเมียอายุ 7-8 เดือนสามารถผสมพันธุ์ได้ แต่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ จึงเน้นเลี้ยงให้มีอายุอย่างต่ำ 1 ปี ถึงจะปล่อยให้ผสมพันธุ์ จากนั้นรอตั้งท้องประมาณ 5 เดือน พอได้ลูกออกมาแล้วปล่อยให้กินนมแม่ก่อน ลูกแพะจะเริ่มอดนมแล้วเริ่มกินหญ้าเมื่อมีอายุได้สัก 2 เดือน ซึ่งอาจจะยังไม่หยุดกินนมทันที เพียงแต่จะกินน้อยลงเพราะกินพืชแทนได้บ้าง แต่พอลูกอายุได้สัก 4 เดือน แม่แพะจะไม่ยอมให้กินนมแล้ว จะแสดงอาการด้วยการเตะลูกทุกครั้งที่ลูกเข้าไปดูดนม อีกทั้งแม่แพะกำลังเริ่มจะผสมพันธุ์ในรอบต่อไปด้วย” คุณประเสริฐ บอก

แนวทางการเลี้ยงแพะเนื้อของคุณประเสริฐคือจะซื้อแพะที่มีความเด่นของแต่ละสายพันธุ์มาผสมกันเพื่อให้ได้แพะที่ตรงตามความต้องการของตลาด โดยเริ่มจากใช้แพะพันธุ์พื้นเมืองผสมกับแพะนมเพื่อต้องการให้มีเนื้อมาก มีน้ำนมให้ลูกมากพอ ต่อมาใช้พันธุ์บอร์ผสมกับแพะนม หรือพันธุ์แองโกลนูเบียน จนถึงทุกวันนี้ เพื่อให้ได้ลูกผสมบอร์ที่มีลักษณะเด่น คือให้น้ำนมมาก ลูกแพะมีนมกินอย่างเพียงพอ ขนาดตัวโต และอัตราการแลกเนื้อที่ดี

คุณประเสริฐ เล่าให้ฟังว่า มีที่ดินประมาณ 70 ไร่ แบ่งเป็นสวนยางพารา 30 ไร่ สวนปาล์มน้ำมัน 30 ไร่ พื้นที่บ้าน สระน้ำ และโรงเรือนเลี้ยงวัว รวมกันประมาณ 10 ไร่ ส่วนโรงเรือนเลี้ยงแพะจะตั้งอยู่ในสวนยางพารา รูปแบบการเลี้ยงแพะเป็นการเลี้ยงแบบผสมผสานกับการปลูกพืช โดยการปล่อยแพะให้กินหญ้าหรือพืชพรรณต่างๆ ในสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพารา ร่วมกับวัว ซึ่งมีการทำรั้วรอบสวนยางพาราเพื่อป้องกันสุนัขเข้ามาไล่กัดแพะ

โดยปกติจะปล่อยแพะให้ออกกินหญ้าเวลา 13.00 น. ของทุกวัน เวลาประมาณ 17.00 น. แพะจะมากินหญ้าที่เตรียมไว้ในคอกหญ้าและแพะจะกลับเข้าโรงเรือนเวลาประมาณ 19.00 น. โดยคุณประเสริฐได้ให้เหตุผลของการเลี้ยงแพะแบบผสมผสานกับการปลูกพืช เพราะแพะเป็นสัตว์ที่กินง่าย สามารถกินอาหารได้หลากหลาย มีเพียงพืชบางอย่างที่กินไม่ได้ซึ่งโดยธรรมชาติแพะก็ไม่กินอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนทั้งค่าอาหารและค่าตัดหญ้าในสวนยางพาราด้วย ซึ่งค่าจ้างตัดหญ้าจะอยู่ที่ 6,000-7,000 บาทต่อครั้ง

คุณประเสริฐขายแพะได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากความต้องการของลูกค้ามักใช้แพะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ตามความเชื่อของชาวมุสลิมเมื่อมีบุตรเกิดขึ้นจะต้องเฉลิมฉลองด้วยการล้มแพะ หรือใช้สำหรับเทศกาลทางพิธีสำคัญทางศาสนา โดยราคาขายแพะอยู่ระหว่าง 170-180 บาทต่อกิโลกรัม หรือตัวละประมาณ 2,000-2,500 บาท โดยแต่ละปีขายได้ประมาณ 50-60 ตัว สร้างรายได้ประมาณ 100,000-150,000 บาท

“เมื่อลูกแพะได้อายุ 4-5 เดือน หากต้องการขายก็สามารถขายได้ทันที โดยแพะที่ขายมักเป็นตัวผู้ เพราะมีน้ำหนักดี มีคุณภาพเนื้อดี ส่วนตัวเมียจะเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ต่อไป แต่จำกัดจำนวนแพะทั้งคอกไม่ให้เกิน 70 ตัว เพราะถ้าเกิน 70 ตัวจะแออัดจนเกินไป ส่วนพ่อพันธุ์จะเปลี่ยนทุกๆ 2 ปี เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดการผสมของสายเลือดเดียวกันจนทำให้ลูกที่ออกมามีความอ่อนแอ ขี้โรค ไม่สมบูรณ์ จนราคาตก การคัดเลือกพ่อพันธุ์จะเลือกตัวที่มีขนาดใหญ่ เป็นแพะพันธุ์ดี น้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป”

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเลี้ยงแพะเพื่อสร้างรายได้ คุณประเสริฐ แนะนำว่า การทำงานด้านปศุสัตว์ อย่างเช่น การเลี้ยงแพะ สิ่งที่ต้องให้มีอยู่ในใจคือเรื่องของความตั้งใจที่จะทำ เพราะการทำเกษตรต้องใช้ความอดทนแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะในช่วงแรกที่เริ่มทำจะเกิดความเหนื่อย ยิ่งการเลี้ยงสัตว์ด้วยแล้ว ในเรื่องของการเจ็บป่วยเจ็บตายมีให้เห็นอยู่เสมอ แต่เมื่อเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและรับมือได้ทันท่วงที จะช่วยให้การเลี้ยงประสบผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน