ข้าพเจ้า นางสาวนุชราภรณ์ ฤทธิ์ไธสง ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลไทยเจริญ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)
เสื่อกกเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นแทบทุกจังหวัดในประเทศไทย ซึ่งแรกเริ่มสมัยบรรพบุรุษจะเป็นการทอเสื่อกกไว้ใช้เองในครัวเรือน โดยใช้กกเหลี่ยมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในท้องทุ่ง หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ นำกกมาตัด ตากให้แห้ง แล้วทอเป็นผืนเสื่อแบบหยาบๆ ไว้ใช้กันเองในครัวเรือนหรือแจกจ่ายในหมู่ญาติ ต่อมามีการพัฒนาเป็นใช้พันธุ์กกกลมเป็นวัสดุในการทอ ที่ปลูกในท้องนาหรือพื้นที่ที่มีความชื้น เช่น บริเวณริมแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะกกกลมจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่า คือมีความเหนียวและผิวละเอียดมากกว่ากกสามเหลี่ยม กกกลมเกิดและเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีน้ำท่วมถึง หลังน้ำลด พอกกเจริญเติบโตได้เต็มที่ก็ทำการตัด นำมาตัดแล้วตากให้แห้ง เก็บไว้ทอเสื่อต่อไปกกกลมพันธุ์ที่ปลูกโดยไม่ต้องอาศัยความชื้นมากนัก บางคนเรียกกกชนิดนี้ว่ากกราชินีปลูกได้โดยทั่วไป เช่น บริเวณสวนภายในหมู่บ้าน ปลูกรอบๆบริเวณบ้าน ร่องน้ำ
การทอเสื่อเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในชนบทที่ใช้เวลาว่างจากการทำไร่ทำนามาถักทอ บางส่วนทอเก็บไว้เพื่อทำบุญช่วงเทศกาลตามประเพณี โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น คือใช้ต้นกก คิดค้นลวดลายให้แปลกใหม่ เช่น ลายดอกลายน้อย ลายสมอคู่ และลายแพรวา ถักทอจนเป็นผืนสวยงาม พัฒนาต่อยอดโดยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย และสามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ทอเสื่อกก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่น ประณีต สวยงาม มีหลากหลายชนิด ผลิตจากเส้นใยที่มีคุณภาพเหนียวแน่นทนนาน ผิวมันละเอียด ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น และสามารถปลูกเองในพื้นที่
วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.30 น. อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดประชุมกับผู้ปฏิบัติงานตำบลไทยเจริญทุกท่าน ผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่น Google meet ประชุมเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับวัสดุในชุมชนที่มีอยู่แล้วและตรงตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ ซึ่งได้คิดเห็นว่าการออกแบบ กระเป๋าเดินทางจากเสื่อกก และการทำแฟ้มรายงานจากผ้าไหม เป็นวัสดุที่มีในชุมชนอยู่แล้วและจะทำให้สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
วันที่ 10 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 น. ผู้ปฏิบัติงานตำบลไทยเจริญทุกท่านได้นัดหมายกันลงพื้นที่ บ้านไทยเจริญ หมู่ 1 เพื่อสำรวจหาวัสดุก่อนการทำกระเป๋าเดินทางจากเสื่อกกและการทำแฟ้มเสนอรายงานจากผ้าไหม และได้ไปดูขั้นตอนการเลี้ยงหม่อนไหมต้องเลี้ยงแบบไหนก่อนที่จะนำมาทอเป็นผ้าไหมได้อย่างไร
วันที่ 17 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 น. อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายให้ผู้ปฏิบัติงานทุกท่านลงพื้นที่ ไปเจอกันที่บ้านของหัวหน้ากลุ่มทอผ้าไหม เพื่อพูดคุยชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการวางแผนการทำงานและหาวัสดุที่จะทำผลิตภัณฑ์ต่อยอดกระเป๋าเดินทางจากเสื่อกกและแฟ้มเสนอรายงานจากผ้าไหม ให้กับชุมชน
จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้รู้จักการทำงานเป็นทีม และมีความสามัคคีกันมากขึ้น รู้จักบริบทของชุมชน เข้าใจการดำรงชีวิตของคนในชุมชน สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการจัดทำแผนการพัฒนาต่อไป