บทความ
เรื่อง 9เทคนิคปลูกกล้วยน้ำว้าให้ได้ผลดี
ชื่อผู้ปฏิบัติงาน นายสินธุ  สร้อยเสน
ประเภท บัณฑิตจบใหม่
หลักสูตร AG14-2 คณะเทคโนโลยีการเกษตร ตำบลสองห้อง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
รายงานผลการปฏิบัติงาน เดือนกันยายน พ.ศ.2565
          โครงการ U2T for BCG ตำบลสองห้อง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์  AG14-2

1.คัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีขนาดความสูง 15 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีเส้นรอบวงต้นมากกว่า 3.5 เซนติเมตร หากต้นเล็กกว่านี้จะพบปัญหาเรื่องการดูแล และอัตราการตายสูง
2. เตรียมแปลงปลูก ระยะ 3×3 หรือ 4×4 เมตร ขนาดหลุมปลูก 50x50x50 เซนติเมตร เพื่อให้ระบบรากเดินดี ขึ้นโคนช้า ระยะปลูกขึ้นอยู่กับการดูแล ถ้าดูแลดี กอกล้วยใหญ่ ควรปลูกระยะ 4×4 เมตร 1 กอ ควรใว้เพียง 4 ต้นเท่านั้น
3. คลุกเคล้าปุ๋ยคอกผสมดินประมาณหลุมละ 2 กิโลกรัม รองก้นหลุมขึ้นมาประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วจึงปลูกต้นกล้วยและกลบบริเวณโคนต้นให้แน่น ทำแอ่งดินรอบต้นเพื่อเก็บน้ำรักษาความชื้นของดิน และควรรองก้นหลุมด้วยสารป้องกันหนอนกอกล้วยประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อหลุม
4. ปลูกเสร็จให้น้ำตามทันทีให้ชุ่มชื้นพอเพียง ไม่เช่นนั้นต้นจะเหี่ยวเฉา ใบแห้งและยุบตัว บางต้นตาย บางต้นแตกต้นใหม่ขึ้นแทนทำให้อายุต้นไม่สม่ำเสมอกัน
5. ในระยะเดือนแรกต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และดินต้องชุ่มชื้นเพียงพอ เป็นเดือนที่ต้องเอาใจใส่อย่างมาก หากเป็นการให้น้ำแบบฝอยหรือมินิสปริงเกลอร์ จะทำให้ต้นตั้งตัวได้เร็ว สามารถสร้างใบและลำต้นใหม่ได้ดี โอกาสรอดสูงกว่าการลากสายยางรดน้ำ และเริ่มให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม ต่อต้น หลังปลูกได้ 1 เดือน และเดือนที่ 2 ส่วนเดือนที่ 3 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทน
6. เดือนที่ 2 และ 3 ต้นกล้วยจะมีต้นและใบใหม่ทั้งหมด ปัญหาคือหญ้าขึ้นคลุมต้น ต้องถากหญ้าบริเวณโคนต้น และฉีดยาฆ่าหญ้าพาราควอต ระหว่างแถว ต้องระวังอย่าให้ละอองยาโดนต้นกล้วย จะทำให้ต้นชะงักและตายได้
7. เดือนที่ 4 การเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งความสูงและรอบวงต้นใกล้เคียงปลูกจากหน่อพันธุ์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดต้นปลูกเริ่มแรก ถ้าสูง 15 เซนติเมตร ขึ้นไป จะโตทันกัน ถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ต้นรอดตายทั้งหมด การดูแลทำเช่นเดียวกับการปลูกด้วยหน่อ โดยให้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม ต่อต้นในเดือนที่ 4 และ 5 ส่วนเดือนที่ 6 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทนและงดใส่ปุ๋ยจนกว่าจะแทงปลี ถึงจะใส่ปุ๋ยเคมีอีกครั้ง จนกระทั่งหลังเก็บเกี่ยวถึงจะเริ่มให้ปุ๋ยในรอบใหม่
8. เดือนที่ 6 หรือ 7 กล้วยเริ่มแทงหน่อ และสะสมอาหารเพื่อการตกเครือ
9. เดือนที่ 9 กล้วยเริ่มแทงปลี การแทงปลีหรือตกเครือจะเร็วหรือช้ากว่าหน่อพันธุ์ ขึ้นอยู่กับขนาดลำต้นปลูกเริ่มแรกและการดูแลรักษา หากต้นพันธุ์ที่มีขนาดความสูง 15 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีเส้นรอบวงต้นมากกว่า 4 เซนติเมตร การตกเครือใกล้เคียงกับหน่อพันธุ์ ขนาด 1 เมตร หากต้นมีขนาดใหญ่กว่านี้ การตกเครือจะเร็วกว่าหน่อพันธุ์ และหากเล็กกว่านี้การตกเครือจะช้ากว่าหน่อพันธุ์ อายุเครือกล้วยจากการแทงปลีจนกระทั่งเก็บเกี่ยวมีอายุประมาณ 4 เดือน เท่ากับหน่อพันธุ์กล้วยน้ำว้าทั่วไป