ข้าพเจ้านางสาวกรกนก อ้วนวงศ์ ผู้ปฏิบัติงานประเภทประชาชน สังกัด ED07-2 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รับผิดชอบในส่วนพื้นที่ตำบลแดงใหญ่ อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development)
ในเดือนกรกฎาคม เป็นเดือนแรกที่เริ่มปฏิบัติงาน ในสัปดาห์แรกผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกท่านจัดเตรียมเอกสาร อาทิแบบฟอร์มใบรายงานตัว และเอกสารข้อตกลงการจ้างงานต่างๆ และเข้าร่วมปฐมนิเทศเพื่อรับฟังข้อมูลที่สำคัญและเข้าใจเป้าหมายที่ชัดเจนในการปฎิบัติงานในครั้งนี้ จากนั้นได้มีการประชุมหารือภายในทีม ตรวจสอบการเข้าระบบรวมถึงมอบหมายหน้าที่ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานทุกท่านเพื่อการทำงานที่รวดเร็วและราบรื่น
ในสัปดาห์ที่ 2 ผู้ปฎิบัติงานทุกท่านลงพื้นที่เพื่อสำรวจวิถีชุมชนในตำบลแดงใหญ่ อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์
… เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 กลุ่มของข้าพเจ้ารับผิดชอบในส่วนของพื้นที่ หมู่ 4 บ้านโศกนาค , หมู่ 5 บ้านเป้าพัฒนา และหมู่ 6 บ้านอีเม้ง ได้ลงพื้นที่ เพื่อสำรวจพื้นที่ ทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ และความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่ รวมถึงการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้
จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านหมู่ 5 และหมู่ 6 ส่วนใหญ่ ค้าของเก่าเป็นอาชีพหลัก เพราะรายได้ดี ตกวันละ 500-1,000 บาท/วัน และมีสถานที่รับซื้อขนาดใหญ่อยู่ภายในหมู่บ้าน รองลงมาชาวบ้านทำเกษตรกรรม ทำนา เป็นต้น และเมื่อนานมาแล้วเคยมีการทำเข่งปลาทู และทอผ้าไหม แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้วเนื่องจากทรัพยากรคน และรายได้ที่มีจำกัดจากนั้นทางกลุ่มผู้ปฏิบัติงานได้เดินทางไปยังโรงสีข้าวเพื่อสำรวจว่าพอมีสิ่งที่เป็นทรัพยากรเพื่อจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่ จากการสำรวจพบว่าแกลบจะมีผู้มารับซื้อเพื่อไปทำปุ๋ย ส่วนวัชพืชหรือเศษข้าวที่อยู่ตะแกรงร่อนข้าวถูกเอาไปให้เป็ดและไก่กิน ซึ่งจะเห็นได้ว่าใช้ทรัพยากรคุ้มมากๆ
แต่จะมีชาวบ้านบางส่วนที่อาศัยอยู่ในหมู่ 4 บ้านโศกนาค ที่มีการทำเสื่อกกกันอยู่ ซึ่งต้นกกเป็นของชาวบ้านปลูกเอง และปลูกไว้เพื่อทำเสื่อกกโดยเฉพาะ หลักๆ ชาวบ้านจะทำเสื่อกกไว้เพื่อใช้เอง และแจกจ่ายเพื่อนบ้านมีขายบ้างผืนละ 100-120 บาท ซึ่งจากผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มก็เล็งเห็นในส่วนที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สนับสนุนและส่งเสริมตำบลต่อไปได้
ทางกลุ่มของผู้ปฏิบัติงานจึงเลือกทำผลิตภัณฑ์จากต้นกก ได้แก่ 1. อุปกรณ์ลับเล็บแมว 2. โซฟาแมว ทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ทำจากต้นกก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่หาได้ตามท้องถิ่น และในชุมชน และเพียงพอต่อการนำมาใช้ อย่างไรก็ตามทางกลุ่มผู้ปฎิบัติงานคาดว่าทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์จะเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ และอาชีพให้แก่ชุมชนได้อย่างแน่นอน