ข้าพเจ้า นายภควัต ล้อมกระโทก ผู้ปฏิบัติงาน ประเภทบัณฑิต ตามโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ปฏิบัติงานภายในชุมชน ตำบลหนองกี่ อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์

คณะอาจารย์ประจำตำบลได้มีการนัดหมายให้สมาชิกผู้ปฏิบัติงานประจำตำบลเข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาวางแผนวิเคราะห์ข้อมูลเสนอแนวทางการปฏิบัติงาน การลงพื้นที่สำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนเพื่อต่อยอดตามเป้าหมายของโครงการ

ภาพที่ 1 การประชุมวางแผนแนวทางการปฏิบัติงาน

 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานร่วมกับอาจารย์ประจำตำบลได้ทำการลงพื้นที่ศึกษาสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนตำบลหนองกี่ โดยพบว่าหมู่ 3 บ้านกาเจาะ มีผลิตภัณฑ์ชุมชนคือเตาอั้งโล่ ที่เป็นผลผลิตจากความคิดภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งวัตถุดิบหลักในการผลิต เช่น ดิน แกลบดำ ขี้เถ้า ส่วนมากจะได้มาจากภายในพื้นที่ โดยเตาอั้งโล่เป็นอุปกรณ์สำหรับก่อไฟที่ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการให้ความร้อนในการหุงต้มอาหาร ลักษณะทั่วไปมีรูปทรงคล้ายถังปากกลมผายออกเล็กน้อย ด้านหน้าเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม ข้างเตาเป็นช่องให้อากาศเข้าหรือใช้เพื่อพัดโบกให้ลมเข้าเพื่อเร่งไฟ ปากเตาทำเป็นจมูกเตาสำหรับวางก้นหม้อ 3 ปุ่มสูงขึ้นจากปากเตาเล็กน้อยและเป็นการระบายอากาศ ภายในเตาจะมีรังผึ้งทำจากดินเผาเป็นแผ่นกลม เจาะรูเรียงกันเป็นวงเหมือนรังผึ้งเพื่อให้ขี้เถ้าร่วงลงไปยังก้นเตาดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 ลักษณะรูปทรงเตาอั้งโล่

แม้ปัจจุบันจะมีการใช้แก๊สแล้วก็ตามแต่เตาอั้งโล่ก็ยังคงนิยมมีการใช้งานอยู่ต่อเนื่องตามครัวเรือน ส่งผลให้มีเตาไว้ใช้เองในชุมชนและเกิดเศรษฐกิจในชุมชนส่งออกขายต่างตำบล ต่างอำเภอ และต่างจังหวัด ให้มีรายได้เลี้ยงชีพตนเอง ครอบครัว และในชุมชน ทั้งนี้อาจารย์และสมาชิกผู้ปฏิบัติงานประจำตำบลมีวัตถุประสงค์ที่จะออกแบบและพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้าและต่อยอดรายได้เศรษฐกิจในชุมชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

ภาพรวมการลงพื้นที่สำรวจผลิตภัณฑ์