หลักสูตร: HS20-2 โครงกาารขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิด ด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development)

ข้าพเจ้า นางสาวอริสรา บวรปารเมศ ผู้ปฏิบัติงาน ประเภทประชาชน ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and and Regional Development) หรือ โครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG” โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสรรบุคลากรที่มีศักยภาพทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างหางานหรือกำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ให้มีการเติบโตและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างยั่งยืน โดยข้าพเจ้าจะเข้าไปทำงานกับชุมชนที่ ตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน

หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านหนองกะทิง หมู่ 1 เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตน้ำสมุนไพร พบว่า ชุมชนตำบลหนองกะทิง มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น แหล่งน้ำ พื้นดิน พืช และไฟฟ้า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านตำบลหนองกะทิงสามารถทำเกษตรกรรมได้หลากหลาย อาทิเช่น การปลูกข้าว ผัก ผลไม้ สมุนไพร และหม่อน เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านได้นำผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกมาต่อยอด โดยการจัดตั้ง “กลุ่มอาชีพน้ำสมุนไพร” ขึ้นมาในปี พ.ศ.2564 ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 25 คน จาก 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองกะทิง หมู่ 1 บ้านหนองกะทิงพัฒนา หมู่ 11 และบ้านหนองบัว หมู่ 7 ปัจจุบันกลุ่มอาชีพน้ำสมุนไพรตำบลหนองกะทิง มีไลน์ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ 1.น้ำสมุนไพร (น้ำอัญชัน น้ำตะไคร้ใบเตย และน้ำข้าวโพด) 2.ไวน์จากมัลเบอร์รี่หรือลูกหม่อน และ 3.ชาใบหม่อนและชาใบเตย (แบบอบแห้งสำหรับชงดื่ม) โดยวัตถุดิบที่ชาวบ้านได้นำมาแปรรูป ล้วนแต่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ดอกอัญชัน ตะไคร้ ใบเตย ข้าวโพด และต้นหม่อน แต่ถ้าหากไม่ใช่ฤดูกาลของพืชชนิดนั้น ทางกลุ่มก็ก็มีความจำเป็นที่จะต้องรับซื้อวัตถุดิบมาจากตลาดเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าต่อไปได้ เมื่อได้ผลผลิตมาแล้ว ก็ส่งไปจำหน่ายที่ร้านค้าในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง สถานที่ราชการ และแสดงสินค้าตามงานสินค้า OTOP เมื่อมีโอกาส

จากการสอบถามผู้นำของกลุ่มอาชีพ พบว่า ทางกลุ่มมีอุปสรรคในด้านของอุปกรณ์การผลิต เนื่องจากทางกลุ่มไม่มีอุปกรณ์ที่เป็นของส่วนกลาง ทำให้สมาชิกต้องนำอุปกรณ์ต่างๆมาจากบ้านของตัวเอง เมื่อใช้เสร็จก็นำกลับไปเก็บที่บ้าน ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของการจัดเก็บและอายุของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากน้ำสมุนไพรเป็นสินค้าที่ทำสดใหม่ ไม่มีการปรุงแต่งสารใดๆ ลงไปในผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีข้อจำกัดในเรื่องของอายุการจัดเก็บ โดยเฉพาะน้ำข้าวโพด ที่สามารถจัดเก็บได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น ก่อนที่สินค้าจะเน่าเสีย

ดังนั้นทางทีมผู้ปฏิบัติงานมีความเห็นว่า ควรจะพัฒนาในส่วนของอุปกรณ์การผลิตในเบื้องต้นและเจาะลึกไปยังตัวผลิตภัณฑ์ในลำดับถัดไป โดยทางทีมผู้ปฏิบัติจะทำการการจัดซื้ออุปกรณ์การผลิตให้กับทางกลุ่ม ตามที่ทางกลุ่มต้องการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ทางทีมผู้ปฏิบัติได้รับมาด้วย จากนั้นก็จัดหาวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านอาหารและโภชนาการ มาให้แนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิต จัดเก็บ และยืดอายุของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการเติมวิตามินลงไปในน้ำสมุนไพรต่างๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้าอีกด้วย และเนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นสินค้าพื้นบ้านที่จัดทำและจำหน่ายเฉพาะในชุมชนเล็กๆ ตัวผลิตภัณฑ์จึงไม่มีชื่อแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ ทำให้สามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆได้ยาก ดังนั้นทางทีมผู้ปฏิบัติจึงจะพัฒนาในส่วนของชื่อแบรนด์และตัวบรรจุภัณฑ์ด้วยเช่นกัน โดยการ ตั้งชื่อแบรนด์ออกแบบโลโก้ และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับทางกลุ่ม เพื่อยกระดับสินค้าและดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ทางทีมผู้ปฏิบัติยังตั้งใจที่จะทำการตลาดออนไลน์เพิ่มเติม โดยทำการสร้างเพจและโปรโมทสินค้าของกลุ่มอาชีพน้ำสมุนไพร ตำบลหนองกะทิง ในทุกช่องทางออนไลน์ อันได้แก่ Facebook , Instagram , และ Tiktok เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน นอกจากจะเป็นการยกระดับและเพิ่มยอดขายแล้ว ยังสามารถเป็นแนวทางไปสู่การขอเครื่องหมาย อย. ในอนาคตได้อีกด้วย เพราะการที่สินค้าได้รับเครื่องหมาย อย. นั้น จะส่งผลให้ลูกค้ามีความมั่นใจในการซื้อสินค้าของทางกลุ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ทางกลุ่มมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

จากการที่ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่ สรุปได้ว่า ทางทีมผู้ปฏิบัติจะต้องพัฒนา กลุ่มอาชีพน้ำสมุนไพร ตำบลหนองกะทิง ทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่ 1.การจัดซื้ออุปกรณ์อุปกรณ์การผลิตให้กับทางกลุ่ม 2.ให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิต การจัดเก็บ การยืดอายุ และการเติมวิตามินลงไปในผลิตภัณฑ์ 3.ออกแบบชื่อแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ของสินค้า 4.ทำการตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยผู้ปฏิบัติจะยึดหลัก BCG Economy และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ Design Thinking ในการทำงาน โดยหวังว่าทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติได้อย่างดีเยี่ยม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพน้ำสมุนไพร ตำบลหนองกะทิง ให้มีคุณภาพจนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างอย่างยืน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป