ข้าพเจ้านางสาวดนุนุช จันทพร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยได้รับผิดชอบพื้นที่ตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ข้าพเจ้าผู้ปฏิบัติงานประจำตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูล TCD (Thailand Community Data) โดยข้าพเจ้าได้รับผิดชอบสำรวจและเก็บข้อมูล ณ หมู่บ้านหนองซอแซ หมู่ที่ 3 ตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ จากการสำรวจข้อมูลของชาวบ้านในชุมชนแล้ว ชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองซอแซ หมู่ที่ 3 มีอาชีพหลักคือเกษตรกร ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ และพืชเศรษฐกิจที่เป็นที่นิยมปลูกกันในหมู่บ้านส่วนใหญ่คือ ข้าว อ้อย และมีปลูกมันสำปะหลังบ้างเป็นบางหลังคาเรือน โดยหมู่บ้านหนองซอแซเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีจำนวนประชากร 995 คนโดยประมาณ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 คุ้ม ได้แก่ คุ้มหนองไผ่ใหญ่ คุ้มหนองไผ่น้อย คุ้มหนองหิน คุ้มหนองซอแซ และคุ้มหนองสระ มีร้านค้าในหมู่บ้านประมาณ 3-4 ร้าน สมาชิกในครอบครัวของชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกร และลูกหลานที่เรียนจบแล้วส่วนใหญ่ได้ไปทำงานที่ต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานคร
การลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูล TCD (Thailand Community Data) ครั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านและ นางสุภาพร เดวิส ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองซอแซเป็นอย่างดี และชาวบ้านในชุมชนให้การต้อนรับยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง ทำให้การลงพื้นที่ครั้งนี้ดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น ด้านปัญหาต่างๆในชุมชน ข้าพเจ้าได้สอบถามจากผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่พบคือ 1.ปัญหาหนี้สินในครัวเรือน ที่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ 2.ปัญหาด้านรายได้ ชาวบ้านบางกลุ่มไม่มีรายได้เสริม 3.ปัญหาด้านไฟฟ้า ซึ่งมีแสงสว่างตามถนนไม่เพียงพอ และไฟฟ้าไม่ค่อยเสถียรเวลาฝนตกทำให้ไฟดับบ่อยเป็นระยะเวลาข้ามวัน ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบในส่วนนี้เป็นอย่างมาก และข้าพเจ้ายังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับการหารายได้เสริมให้กับชาวบ้านในชุมชน เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านให้มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการทำเกษตรกร เนื่องจากการทำไร่ ทำนา จะได้ผลผลิตเป็นรายปี และช่วงเวลาที่เหลือจากการทำเกษตรกรชาวบ้านในชุมชนก็จะว่างงานและไม่มีรายได้มาใช้จ่ายในครัวเรือน
โดยวิธีการสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในชุมชนมีดังต่อไปนี้
- ใช้ของดีในชุมชนสร้างเป็นรายได้ ทุกชุมชนทุกหมู่บ้านจะต้องมีของดีเป็นของตัวเองอยู่แล้ว การเลือกนำเอาของดีดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำมาแปรรูป นำมาดัดแปลงเป็นงานฝีมือ และอื่นๆ โดยให้ชาวบ้านในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันทำพร้อมแบ่งรายได้อย่างเท่าเทียมก็สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้
- นำงานฝีมือส่งขายนอกชุมชน หากชาวบ้านมีความสามารถในการทำงานฝีมือ ก็สามารถนำเอางานฝีมือดังกล่าวมาต่อยอดสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้
- ใช้ผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มรายได้ หากชุมชนมีผลิตผลทางการเกษตรเป็นจำนวนมากจนส่งขายออกไม่หมด หรือไม่ได้ราคา อาจเลือกเอาผลผลิตดังกล่าวมาทำการแปรรูปพร้อมส่งขายหรือกลายเป็นของขึ้นชื่อของพื้นที่ได้