ข้าพเจ้า นางสาวศรสวรรค์ พันธ์ศรี ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลหินโคน หลักสูตร HS24-2 โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ในเดือนกรกฎาคมนี้ ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ทำการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลภายในตำบลหินโคน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ การลงพื้นที่ปฏิบัติงานในครั้งนี้ทำให้ทราบว่าประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพทำการเกษตร เช่น การทำนา  การทำไร่ การปลูกพืชทางการเกษตร และการเลี้ยงสัตว์

ยามว่างจากการทำการเกษตรผู้คนในชุมชนยังมีการทำหัตกรรม เช่น การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การทอผ้าไหม  เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาของคนในชุมชนและเป็นสินค้าจัดจำหน่ายสร้างรายได้เสริมในครัวเรือน ซึ่งในชุมชนตำบลหินโคนมีผ้าไหมขึ้นชื่อ คือ “ผ้าซิ่นตีนแดง” โดยมีลักษณะเป็นผ้าไหมที่มีส่วนปลายผ้าเป็นสีแดง มีลวดลายที่วิจิตรบรรจง ผ้ามีความมันวาว สีสันโดดเด่นสะดุดตา นอกจากนี้ตำบลหินโคนยังมีการทอผ้าไหมลวดลาย “ลายขอเจ้าฟ้า”สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประทานลายผ้าพระราชทานเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และสื่อความหมายถึงการส่งมอบความรักความสุขให้แก่ชาวไทย

 

ในประเทศไทย มีการค้นพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้าไหมที่เก่าแก่ที่สุดประมาณ 3,000 กว่าปีที่แล้ว โดยพบเศษผ้าไหมของวัฒนธรรมบ้านเชียง ณ บ้านนาดี อำเภอหนองหาญ จังหวัดอุดร และบริเวณพื้นที่อื่น ๆในภาคอีสาน ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้ว่า มีการเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหมเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งหมกระจายทั่วไปในแถบภาคอีสาน และสายพันธุ์ไหมที่ใช้เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีการฟักตัวได้ตลอดทั้งปี โดยรังไหมมีลักษณะรูปทรงเป็นวงรีเรียวเล็กสีเหลือง และในส่วนของภาคอื่น ๆ ของประเทศมีหลักฐานตรวจพบถึงการทอผ้าไหมเป็นเครื่องนุ่งห่มปรากฏตามจารึกของพงศาวดารต่าง ๆ จนถึงสมัยอยุธยา กรุงธนบุรี ถึงรัชสมัยปัจจุบัน

ในสมัยก่อนการทอผ้าไหมถือได้ว่าเป็นอาชีพรองจากการทำนาเลยทีเดียว เนื่องจากบริเวณพื้นที่อีสานถือเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงหม่อนไหม และทอผ้าไหมมากที่สุด โดยสมัยนั้นเทคโนโลยีเกี่ยวกับผ้าไหมยังไม่เจริญก้าวหน้าทำให้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นจำนวนมาก

สำหรับการผลิตผ้าไหมในภาคครัวเรือนพบมากเกือบทุกภาค โดยเฉพาะในภาคอีสาน และภาคเหนือที่มีการผลิตในระดับครัวเรือน และการจัดตั้งกลุ่มผู้ทอผ้าขึ้น ปัจจุบันมีมากกว่า 200 รายทั่วประเทศ เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และการส่งออก

ผ้าไหมเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของคนไทยที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ มีกระบวนการที่ซับซ้อนกว่าจะได้เป็นผืนผ้าไหมที่สวยงาม ต้องสั่งสมประสบการณ์อันยาวนานของผู้ทอ เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนการเลี้ยงตัวไหม การสาวไหมเพื่อนำมาทำเป็นเส้นไหม การฟอกไหม การย้อมสี และการทอเป็นผืนผ้า เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่า ที่แสดงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ ผ้าทอยังมีบทบาทสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญานี้ไว้ให้คงอยู่สืบต่อไป

 

วิดีโอประกอบการปฏิบัติงานประจำเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2565