ดิฉัน นางฐิติกาญจน์ สกุลทอง ประเภท ประชาชน
เป็นผู้จ้างงานของตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิด-19 ด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)
การปฏิบัติงานประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2565
วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ข้าพเจ้ารับทราบข้อมูลจากอาจารย์ประจำตำบลเรื่องการเข้าร่วมกิจกรรมทอดผ้าป่าสามัคคีโดยทางอาจารย์ประจำตำบลได้มีคำสั่งให้ผู้ปฏิบัติงานร่วมกันจัดทำต้นผ้าป่าของตำบลหนองยายพิมพ์ และขอให้ทางผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่ช่วยจัดเตรียมสถานที่ในการทอดผ้าป่า ณ โนนตะโก ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ข้าพเจ้าร่วมเป็นเจ้าภาพกิจกรรมทอดผ้าป่าสามัคคี ณ โนนตะโก ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยงานทอดผ้าป่าสามัคคีมีการเริ่มต้นตั้งขบวนแห่ผ้าป่าเข้าไปในงานพิธีซึ่งเป็นศาลาของศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง เมื่อเวลา 09.00 น. จากนั้นเป็นพิธีเปิดงานโดย นางสาวเพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอนางรอง แล้วได้ทำการทอดผ้าป่าสามัคคีเป็นลำดับต่อไป เวลาประมาณ 10.00-12.30 น. รับฟังการบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชาฝ่าทุกวิกฤติในยุค World Disruption” โดย คุณโจน จันใด ซึ่งทำให้ตัวข้าพเจ้าเองได้ข้อคิดต่าง ๆ มากมายในการใช้ชีวิตบนวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อฝ่าทุกวิกฤติในยุค World Disruption จากนั้นเวลา 13.00-15.30 นาฬิกา เป็นการเข้าร่วมรับฟังการเสวนาชุมชนเรื่อง “เกษตรอินทรีย์บนวิถีพอเพียงทำอย่างไรให้เป็นทางเลือกและทางรอดอย่างยั่งยืน” จากการที่ได้รับฟังการเสวนาจากพ่อคำเดื่อง ภาษี ประธานเครือข่ายปราชญ์จังหวัดบุรีรัมย์ นายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโสน นายเดช สวัสดิ์พูน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองยายพิมพ์ นายมานพ บุญรอด เจ้าของนวเกษตร นายพิชาญ ดัดตนรัมย์ เจ้าของกระท่อมดินกินแดด นายคำนึง เจริญศิริ ผู้ริเริ่มศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสุขวัฒนา และดำเนินการเสวนาโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ข้าพเจ้าได้ซึมซับวิธีการและข้อคิดจากการใช้เกษตรอินทรีย์บนวิถีพอเพียงเพื่อให้เป็นทางรอดอย่างยั่งยืนในชีวิตประจำวัน
วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2565 ข้าพเจ้าร่วมกับอาจารย์ประจำตำบลและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองยายพิมพ์ ลงพื้นที่บ้านจาน ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ บ้านนางจำนงค์ แอนรัมย์ เพื่อทำหมูระจกสมุนไพร โดยสมุนไพรที่นำมาใส่ในหมูกระจกคือ 1. พริกแห้งทอด 2. ตะไคร้ทอด 3. ใบมะกรูดทอด ทำให้ได้รสชาติของหมูกระจกสมุนไพรที่มีรสชาติหลากหลายขึ้น และทางทีมงานได้ร่วมกันออกแบบสติ๊กเกอร์ บรรจุภัณฑ์ และราคา โดยมี 2 ขนาด 2 ราคา คือ ขนาดเล็กห่อละ 25 บาท และขนาดใหญ่ห่อละ 50 บาท เพื่อเตรียมนำหมูกระจกสมุนไพรจากการที่ได้ทำโครงการ U2T for BCG นี้ไปวางจำหน่ายในงานรับพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565 ข้าพเจ้าเข้าประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet ร่วมกับอาจารย์และผู้ผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองยายพิมพ์ เรื่องการขับเคลื่อนกิจกรรม “ECT WEEK” พิชิตภารกิจ ลงพื้นที่ 5 วัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรายงานผลผ่าน Facebook “U2T For BCG Online Community” ทำกิจกรรมให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายหลักของ U2T หรือประชาชนทั่วไป ในระหว่างวันที่ 5-9 กันยายน 2565 โดยดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการสร้างพลเมืองคุณภาพ ซึ่งอาจารย์ประจำตำบลได้ชี้แจงและแบ่งหน้าที่การทำงานให้กับผู้ปฏิบัติงานประจำตำบลเพื่อทำภารกิจต่อไป
วันที่ 6,8 และ 9 กันยายน พ.ศ. 2565 ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการขับเคลื่อนกิจกรรม “ECT WEEK” โดยลงพื้นที่ 4 หมู่บ้านคือ หมู่ 1 บ้านหนองยายพิมพ์ หมู่ 3 บ้านบุตาสุ่ม หมู่ 4 บ้านหนองโจด และหมู่ 9 บ้านโนนศาลา ซึ่งภารกิจในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลมีดังนี้คือ 1. ได้เข้าพบกรรมการศูนย์ ณ ที่ทำการ ศส.ปชต (กศน.ตำบล) เพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่และการดำเนินงานของศูนย์ฯ เรียนรู้การขับเคลื่อนภารกิจ การสร้างเครือข่ายและการทำงานร่วมกับชุมชน 2. ลงพื้นที่เก็บข้อมูล “การเมืองเรื่องใกล้ตัว” และ “วิถีประชาธิปไตยในชีวิตประจำวัน” 3. ลงพื้นที่เก็บข้อมูล “ผู้แทนที่พึงประสงค์” มีหัวข้อคือ การจะเลือกใครเป็นผู้แทนของเรา ควรมีปัจจัยอะไรบ้าง ประชาชนต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ที่จะมาเป็นผู้แทนหรือไม่ อย่างไร คุณสมบัติของผู้แทนที่ท่านต้องการมีอะไรบ้าง ท่านอยากให้ผู้แทนทำหน้าที่อะไรบ้าง 4. ลงพื้นที่เก็บข้อมูล “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต และ 5. ระดมความเห็น ข้อเสนอแนะ ร่วมกับกรรมการศูนย์ฯ เพื่อจัดทำสรุปรายงาน ทางเจ้าหน้าที่ที่ทำการ ศส.ปชต (กศน.ตำบล) และประชาชนผู้ให้ข้อมูลในการเก็บข้อมูลแบบสอบถามนี้ได้ให้ความร่วมมือกับข้าพเจ้าเป็นอย่างดีจนทำให้การปฏิบัติภารกิจพิชิตกิจกรรม ECT WEEK นี้สำเร็จด้วยดี
วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2565 ข้าพเจ้าร่วมกับอาจารย์ประจำตำบลทำวุ้นกรอบมะนาวและกัมมี่มะนาวที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยมีท่านอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์จำนวน 4 ท่าน มาเป็นวิทยากรในการให้ความรู้ ได้แก่ 1. อาจารย์ ดร.จิตตะวัน กุโบลา 2. อาจารย์จตุพัฒน์ สมัปปิโต 3. อาจารย์เพียรพรรณ ศุภโคตร และ 4. อาจารย์กมลพร สิทธิไตรย์ ทางวิทยากรมีความรู้ความสามารถเป็นอย่างดีและได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำวุ้นกรอบมะนาวและกัมมี่มะนาวอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังให้สูตรการทำมะนาว ซึ่งมีด้วยกัน 2 สูตร คือ 1. วุ้นกรอบมะนาว มีวัตถุดิบ คือ 1. ผงวุ้น 2 ช้อนโต๊ะ 2. น้ำเปล่า 300 กรัม 3. น้ำมะนาว 50 กรัม (2. และ 3. สามารถปรับเปลี่ยนรสชาติความเปรี้ยวของมะนาวได้ตามต้องการ) 4. น้ำตาลทรายขาว 400 กรัม 5. น้ำผึ้ง 25 กรัม 6. เกลือป่น ¼ ช้อนชา 7. สีผสมอาหาร (เลือกสีได้ตามใจชอบ) วิธีการทำ 1. นำน้ำเปล่าเทใส่ลงในหม้อ ใส่ผงวุ้นลงไปคนให้ส่วนผสมเข้ากันดี พักไว้ประมาณ 10 นาที ยกขึ้นตั้งไฟกลาง ใช้ตะกร้อมมือคนจนผงวุ้นละลาย 2. เมื่อผงวุ้นละลายดีแล้วเช็คโดยการใช้ช้อนจุ่มลงไปแล้วยกขึ้นจะไม่มีผงวุ้นเป็นเม็ด ๆ ติดช้อนขึ้นมา จากนั้นก็ใส่น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง เกลือป่นลงไปได้ คนต่อให้น้ำตาลทรายละลายพอเดือดแล้วจับเวลาประมาณ 30 วินาที เติมน้ำมะนาวแล้วแล้วคนส่วนผสมให้เข้ากันดี แล้วยกลงจากเตา เคล็ดลับ : ให้คนตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ไหม้ก้นหม้อ 3. แบ่งวุ้นใส่ชามและสีผสมอาหารตามใจชอบ คนให้เข้ากันดี เทใส่พิมพ์ วางไว้ที่อุณหภูมิห้อง ประมาณ 30-60 นาที จนวุ้นเซ็ทตัว จึงแกะออกจากพิมพ์ 4. นำมีดมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ 5. นำออกตากแดด ประมาณ 3-4 แดด จนแห้งดีและเก็บใส่ชวดโหลหรือบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และ 2. กัมมี่มะนาว มีวัตถุดิบ คือ 1. เจลาติน 30 กรัม 2. น้ำเปล่า (เย็น) 30 มิลลิลิตร 3. น้ำเปล่า 30 มิลลิลิตร 4. น้ำมะนาว 40 มิลลิลิตร 5. น้ำตาลทราย 60 กรัม 6. น้ำผึ้ง 20 มิลลิลิตร 7. คาราจีแนน 0.3 กรัม 8. แป้งข้าวโพด (สำหรับโรยไม่ให้กัมมี่ติดกัน โดยคั่วให้สุกก่อนนำมาใช้) วิธีการทำ 1. แช่เจลาตินกับน้ำเปล่า (เย็น) ทิ้งไว้ 10 นาที 2. ใส่น้ำเปล่า น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง คาราจีแนน และเจลาตินที่เตรียมไว้ในข้อ 1 ลงในหม้อ แล้วนำไปให้ความร้อนโดยใช้ไฟอ่อน คนจนส่วนผสมละลายแล้วยกลงจากเตา 3. นำน้ำมะนาวที่เตรียมไว้ใส่ลงไป ผสมให้เข้ากัน 4. ตักใส่พิมพ์ แล้วนำเข้าตู้เย็นให้เนื้อกำมี่เซ็ทตัว 5. แกะกำมี่ออกจากพิมพ์ โดยใช้แป้งโรยให้ทั่วช่วยให้กัมมี่ไม่ติดกัน 6. บรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม
วันที่ 15–18 กันยายน พ.ศ. 2565 ข้าพเจ้าร่วมขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ร่วมโครงการ ซึ่งทางหลักสูตร HS04-1 ตำบลหนองยายพิมพ์ได้จัดทำโครงการขึ้นมาด้วยกัน 2 โครงการดังนี้คือ 1. โครงการส่งเสริมและพัฒนาการทำหมูกระจกสมุนไพรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชน และ 2. โครงการส่งเสริมและพัฒนาการทำเยลลี่น้ำมะนาวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชน โดยได้นำสินค้าต่าง ๆ มาวางจำหน่ายในงานพิธีซ้อมรับพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษา เช่น หมูกระจก (สูตรดั้งเดิม) หมูกระจกสมุนไพร (พริก ตะไคร้ ใบมะกรูด) เยลลี่น้ำมะนาว (กัมมี่มะนาวและวุ้นกรอบมะนาว) และยังรวมไปถึงผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่นำมาจากชุมชน เช่น ส้มโอ หนังไก่ทอดกรอบ เป็นต้น มาจำหน่ายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
สรุปผลการปฏิบัติงานประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2565
ดิฉันได้เรียนรู้งานจากการลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลการทำหมูกระจกสมุนไพร การทำเยลลี่น้ำมะนาว และการทำกิจกรรม ECT WEEK ทำให้ได้เรียนรู้ในส่วนของการลงพื้นที่พบปะผู้คนภายในชุมชน ได้ทำการสอบถามและเก็บข้อมูล เพื่อจะนำประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้มาใช้พัฒนาตนเองและชุมชนต่อไป