หลักสูตร HS09-1 : โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)

ข้าพเจ้านางสาวชุติภา สิงห์แก้ว ประเภทบัณฑิต เป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์จากกลุ่ม HS09-1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์  โดยดำเนินการลงพื้นที่และปฏิบัติงาน ดังนี้

หลังจากการทำแบบฟอร์ม C-01 และ C-02 แล้ว อาจารย์ประจำตำบล อาจารย์ฐิตาพร พุฒกลางและอาจารย์นวิยา จุโฑปะมา ได้สรุปมอบหมายงานจากการประชุมออนไลน์ผ่าน google meet ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ว่าด้วยเรื่องการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม hackathon ของโครงการ ทางด้านอาจารย์ประจำตำบลให้ทีมผู้ปฏิบัติงานช่วยกันทำ presentation slide เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของโครงการจากตำบลผไทรินทร์ เพื่อเข้าร่วมคัดเลือกเป็นตัวแทนในการแข่งขัน hackathon โดยสไลด์ที่นำเสนอจะประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ 5 ส่วน คือ 1.หน้าปก เพื่อบอกชื่อผลิตภัณฑ์และตำบลที่พัฒนา 2.ปัญหาและผลกระทบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 3.แนวทางในการแก้ปัญหา 4.โครงการ/สินค้าที่พัฒนา สร้างคุณค่าอย่างไร และ 5.โมเดลธุรกิจ

ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้ร่วมกันลงพื้นที่ ณ ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ในวันที่ 7 สิงหาคม 2565 เพื่อช่วยกันเก็บรวบรวมข้อมูลและเพื่อลงบันทึกประวัติข้อมูล TCD โดยทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้ทำการลงพื้นที่สำรวจ ณ บ้านสำโรงน้อย หมู่ที่ 12 ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสอบถามข้อมูลกับนายสมร ไกรพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12  ได้ความว่า บ้านสำโรงน้อยนี้มีจำนวนครัวเรือนอยู่ที่ 120 ครัวเรือน คิดเป็นประชากรประมาณ 500 คน โดยชาวบ้านจะมีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร ปลูกข้าว ทำนา มีการปลูกมันสำปะหลังบ้างในบางครัวเรือน และคนที่ว่างงานในหมู่บ้าน จะมีการรับวัวมาเลี้ยงเพื่อหาเงิน หรือการรับจ้างทำวิกผม ทำปั่นจักร โดยจะมีตัวกลางนำของมาส่ง หรือตัวแทนไปรับของมาทำวิกจากโรงงานวิกในตัวเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ และทางหมู่บ้านไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน ทีมผู้ปฏิบัติงานได้สอบถามนายสมร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ถึงเรื่องการถนอมอาหารหรือการแปรรูปอาหารของชาวบ้านในชุมชน ได้คำตอบว่า ชาวบ้านในชุมชนมีการถนอมอาหารคือ การทำปลาร้า แต่เป็นการจัดทำเพื่อรับประทานภายในครัวเรือน ไม่มีการทำเพื่อขายส่งออกหรือทำเป็นกำไร

การลงสำรวจพื้นที่ในตำบลผไทรินทร์ เพื่อหาข้อมูล TCD ผู้เขียนและทีมผู้ปฏิบัติงานได้เริ่มจากการไปสำรวจการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านในระแวกนั้น พบว่ามีการทำนาแบบปักดำ ซึ่งการดำต้นกล้าในลักษณะนี้ถือว่าพบเห็นได้น้อยลงในทุกวัน จากนั้นทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้เดินทางไปสำรวจการเลี้ยงหนูนาของชาวบ้าน พบว่า ชาวบ้านบางส่วนมีการเลี้ยงหนูนาเพื่อจำหน่าย การจำหน่ายคิดราคาเป็นกิโลกรัมละ 200 บาท โดยหนูนาขนาดสมบูรณ์พร้อมจำหน่ายจะมีน้ำหนักที่ตัวละ 6 ถึง 7 ขีดขึ้นไป การเลี้ยงหนูนาไม่ได้ใช้อุปกรณ์เยอะมาก และอาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงคือ ข้าวเปลือกเป็นหลัก มีผลไม้บ้างในบางครั้ง และจะมีการให้อาหาร 1 มื้อต่อวัน จากนั้นทีมผู้ปฏิบัติงานได้พบกับต้นแคนา ซึ่งนับว่าไม่สามารถพบเจอได้ง่าย ทั่ว ๆ ไป ต้นแคนามีดอกสีขาวที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ มีรสชาติหวานอมขม ทั้งยังได้พบกับผักอีนูนป่า ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่จะสามารถหาทานได้ปีละครั้ง ช่วงหน้าแล้ง ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ผักอีนูนถือเป็นพืชที่มีสรรพคุณเป็นยาสามารถช่วยรักษาโรคหรือนำมาประกอบอาหารได้ โดยการนำยอดอ่อน ใบอ่อนหรือผลอ่อนมารับประทานคู่กับน้ำพริกหรือแจ่ว และยังพบข้อมูลอื่น ๆ อีกเช่น ส้มจี๊ด จากนั้นทีมผู้ปฏิบัติงานจึงช่วยกันลงข้อมูล TCD

ทีมผู้ปฏิบัติงานได้ร่วมกันทำแผนพัฒนาสินค้า เริ่มจากการประชุมผ่าน google meet ในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 จากนั้นจึงนำไอเดียที่ได้พูดคุยกันมาเริ่มทำแผนพัฒนาสินค้าสำหรับส่งงานในแบบฟอร์ม C-03 เรื่องการพัฒนาสินค้า โดยได้คุยรายละเอียดกันในเรื่องผลิตภัณฑ์สินค้าที่จะพัฒนา เช่น เรื่องโลโก้ของผลิตภัณฑ์ว่ามีความต้องการให้โลโก้เป็นไปในทิศทางใด เพื่อที่จะช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ ทั้งยังได้หารือกันเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่จะใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ว่าอยากให้เป็นไปในรูปแบบใด โดยได้ข้อสรุป คือ ผลิตภัณฑ์กล้วยหนึบ จะจัดให้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม สีใส มีฝาปิดมิดชิด เพื่อที่ผู้บริโภคจะสามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตาเปล่า เมื่อผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจจากการมองได้ จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจและอยากซื้อผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกันกับผลิตภัณฑ์กระเทียมปรุงรส แต่กระเทียมปรุงรสจะจัดให้อยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบกระปุก สีใส มีฝาปิดมิดชิด และสุดท้าย ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้พูดคุยเรื่องช่องทางการจำหน่ายสินค้าว่าจะจัดจำหน่ายรูปแบบออนไลน์ในช่องทางใดบ้าง โดยได้ข้อสรุป คือ ทางทีมผู้ปฏิบัติงานจะมีการจำหน่ายผ่าน Instagram และ Facebook เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ผู้เขียนจึงได้นำข้อมูลไปบันทึกลงในแบบฟอร์ม C-03 และเตรียมพร้อมสำหรับการทำแบบฟอร์ม C-04 ต่อไป

เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของทางตำบลผไทรินทร์เป็นผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้เวลาในการผลิต คิดค้นและพัฒนา ทางทีมผู้ปฏิบัติงานจึงเริ่มต้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งสอง คือ กล้วยหนึบและกระเทียมปรุงรส ตั้งแต่การลงพื้นที่เพื่อหาวัตถุดิบ การพูดคุยเพื่อสอบถามความสนใจในการร่วมโครงการของชาวบ้าน การเริ่มออกแบบโลโก้และแบรนด์สินค้า ตลอดจนการหาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยการพัฒนาในแต่ละขั้นที่ผู้เขียนได้กล่าวมาทั้งสิ้นล้วนบรรลุจุดประสงค์ไปได้ด้วยดี