หลักสูตร HS09-1 : โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)
ข้าพเจ้า นางสาววศินี สิงห์แก้ว ประเภทบัณฑิต เป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ จากกลุ่ม HS09-1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยดำเนินการลงพื้นที่และปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้
วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 อาจารย์ประจำตำบลนัดประชุมออนไลน์ เรื่อง Hackathon เวลา 16.00 น. ผ่านช่องทาง Google Meet ได้รับมอบหมายให้สมัครเข้าร่วม Hackathon ผ่านช่องทาง google form โดยต้องทำ Presentation slide ซึ่งเนื้อหาแสดงถึงปัญหาและผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีในตำบลและแสดงถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริง โครงการที่เกิดขึ้นนั้นสร้างคุณค่าให้กับตำบลได้มากน้อยเพียงใดรวมถึงการใช้ทรัพยากรในตำบลให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสร้างมูลค่าโดยมีนวัตกรรมและโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน ในวันที่ 7 สิงหาคม 2565 ดิฉันและทีมผู้ปฏิบัติงานได้เดินทางไปยัง ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยลงพื้นที่เข้าไปสำรวจและเก็บข้อมูล TCD ณ หมู่ 12 บ้านสำโรงน้อย เริ่มจากที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน สอบถามนายสมร ไกรพงษ์ (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12) ถึงผู้ที่ย้ายกลับมาบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด พบว่า มีคุณลุงกลับมาจากจังหวัดสมุทรสาคร 1 ราย เนื่องจากโรงงานปิด ส่วนแหล่งท่องเที่ยว พบว่า ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดิม และยังพบอีกว่าการทำปลาร้าเป็นอาหารที่น่าสนใจประจำถิ่นแต่ทำเพียงสำหรับรับประทานเองภายในครัวเรือนของตน ส่วนใหญ่ทำการเกษตรเป็นหลัก เช่น การปลูกข้าว และบางส่วนปลูกมันสำปะหลัง ในส่วนของผู้ว่างงานบางส่วนจะหารายได้จากการเย็บถัก การทำวิก โดยจะรับของมาทำจากในตัวเมืองหรือมีคนนำมาส่งให้ และยังมีการรับวัวมาเลี้ยงอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้เก็บข้อมูลเพิ่มเติมของสัตว์ในท้องถิ่นและพืชในท้องถิ่น ได้แก่ หนูนา ซึ่งหนูนานั้นเลี้ยงเป็นจำนวนมากถึง 30-35 ตัว แบ่งพื้นที่เลี้ยงประมาณ 6-9 ตัวต่อพื้นที่ มีทั้งเพศชายและเพศหญิง เลี้ยงเพื่อจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 200 บาทต่อตัว และยังพบต้นแคนาโดยสามารถนำมาใช้ได้ทั้งราก เมล็ด ดอก ใบ อีกทั้งยังพบต้นส้มจี๊ดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย และในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ประชุมกับทีมผู้ปฏิบัติงานเพื่อพูดคุย ปรึกษากันในการทำแบบฟอร์ม C-03 แผนการพัฒนาสินค้าและบริการ เกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่ใช้ในการผลิตสินค้า โดยจะใช้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้สุญญากาศเพื่อรักษาคุณภาพของอาหารให้นานที่สุด ความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น ด้านวัตถุดิบมีเพียงพอตามต้องการ ด้านบรรจุภัณฑ์ได้ร่วมกันเลือกตัวบรรจุภัณฑ์ที่มีความคุ้มค่าที่สุดเพื่อลดต้นทุนอีกทั้งยังมีความสะดวก สวยงามและทนทาน ด้านกระบวนการผลิตและบริการยังไม่พร้อมมากนัก ด้านการจัดการได้เตรียมการต่างๆไว้แล้ว เช่น รูปแบบบรรจุภัณฑ์หรือตราสินค้า ทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้ออกแบบตราสินค้ามาหลายรูปแบบและได้คัดเลือกแบบที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว จนกลายมาเป็นโลโก้ทั้งสองรูปแบบสำหรับผลิตภัณฑ์ “กล้วยหนึบ” และ “กระเทียมปรุงรส” ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายทั้งเพศ อายุ รวมไปถึงสีสันน่าดึงดูดใจลูกค้า และใช้บรรจุภัณฑ์ลักษณะใสมองเห็นได้จากภายนอก มีฝาปิดมิดชิดช่วยรักษาความสะอาดป้องกันแมลงและฝุ่นละออง ด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งกระเทียมปรุงรสมีลักษณะกรอบ หอม มัน และยังมีรสชาติที่หลากหลายโดยการนำไปผสมกับผงปรุงรสชนิดต่าง ๆ เช่น ผงปาปริก้า ผงบาร์บีคิว ผงชีส และผงสไปซี่ ส่วนกล้วยหนึบนั้นมีความนุ่มหนึบเคลือบด้วยน้ำผึ้งและช็อกโกแลต ในด้านของหลักการและขั้นตอนการพัฒนาของสินค้าและบริการ รวมถึงแผนการพัฒนาสินค้าและบริการของตำบล ทีมงานผู้ปฏิบัติงานได้วางแผนงานเป็นขั้นตอนเพื่อจัดการให้สินค้าที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ถูกพัฒนาอย่างเป็นระบบ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2565 ประชุมกับทีมผู้ปฏิบัติงานเพื่อปรึกษา พูดคุย แสดงความคิดเห็นการทำแบบฟอร์ม C-03 แผนการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการทำโลโก้ของสินค้าของผลิตภัณฑ์จากกล้วยและผลิตภัณฑ์จากกระเทียมและอื่นๆ จากนั้นวางแผนพัฒนาแบบฟอร์ม C-04 ผลการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อพัฒนาสินค้าและจำหน่ายต่อไป
สรุปผลจากการปฏิบัติงานและลงพื้นที่เก็บข้อมูล TCD เพื่อสอบถามและเก็บข้อมูลเบื้องต้น ได้ข้อสรุปว่า ผลิตภัณฑ์ของตำบลเราจะใช้แพ็คเกจของผลิตภัณฑ์ “กล้วยหนึบ” ในรูปแบบกล่อง ผลิตภัณฑ์ “กระเทียมปรุงรสทอดกรอบ” ในรูปแบบกระปุก เนื่องจากการปรึกษากันของสมาชิกเล็งเห็นว่าเป็นแพ็คเกจที่มีความสวยงาม อีกทั้งยังคุณภาพดีมีต้นทุนที่เหมาะสม และยังมีช่องทางการขายในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่ เพจ Facebook: ขนมบ้านผไทรินทร์ และ Instagram: phathairin.products ซึ่งทางทีมผู้ปฏิบัติงานได้ออกแบบตราสินค้าเป็นที่เรียบร้อย โดยมีโลโก้สินค้าทั้งหมด 2 อันทั้งของกล้วยและกระเทียม จากการสำรวจและลงเก็บข้อมูล TCD พบว่า ตำบลผไทรินทร์ยังไม่มีร้านอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยวเกิดขึ้นใหม่ และส่วนใหญ่ยังคงทำการเกษตรเป็นหลัก