หลักสูตร HS09-1 : โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)

            ข้าพเจ้า นางสาววศินี สิงห์แก้ว ประเภทบัณฑิต เป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ จากกลุ่ม HS09-1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยดำเนินการลงพื้นที่และปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้

            วันที่ 19 สิงหาคม 2565 อาจารย์ประจำตำบล คือ อาจารย์นวิยา จุโฑปะมาและอาจารย์ฐิตาพร พุฒกลางนัดประชุมออนไลน์ เรื่อง การเตรียมตัวลงพื้นที่เพื่อพัฒนาสินค้า โดยมีคุณป้าทองนาค ชะนะนาน เป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับทีมผู้ปฏิบัติงาน เตรียมการเรื่องติดต่อสถานที่ ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้าน หมู่ 16 ร่วมกับผู้ปฏิบัติงานเตรียมวัตถุดิบและอุปกรณ์ไปให้พร้อม เช่น กล้วยน้ำว้า กระเทียม น้ำผึ้ง แปรงทาน้ำผึ้ง เกลือ ผงปรุงรสรสชาติต่างๆ(รสชีส รสปาปริก้า รสบาบีคิว) น้ำมัน มีด เขียง หม้อหรือกะละมังสำหรับแช่ เป็นต้น

วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เป็นการประสานงานเพื่อลงพื้นที่ไปยังตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้าน หมู่ 16 บ้านโคกงิ้วใหม่ เริ่มจากการกล่าวถึงกระเทียมและกล้วยคร่าวๆ เรื่อง ขั้นตอนการทำกล้วยหนึบ ตั้งแต่การปลอกกล้วย เอาเยื่อกล้วยออกจนหมด แช่ในน้ำเกลือแล้วนำไปล้าง แล้วตากแดด 3 แดด (3วัน) จากนั้นนำไปเคลือบน้ำผึ้งแล้วใส่บรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อย และขั้นตอนการทำกระเทียมปรุงรส ตั้งแต่การล้าง ปอกเปลือกกระเทียม จากนั้นนำไปตากแดดแล้วทอดด้วยน้ำมัน เมื่อทอดจนกรอบเหลืองแล้วนำไปปรุงรสและนำไปใส่บรรจุภัณฑ์ทั้งในรูปแบบถุงและรูปแบบกระปุก หลังจากการอธิบายวิธีการทำเรียบร้อยแล้วจึงแบ่งกลุ่มชาวบ้านออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทำกระเทียมปรุงรสกับกลุ่มทำกล้วยหนึบ เมื่อทำครบจำนวนแล้วถือว่าเรียบร้อย

วันที่ 3 กันยายน 2565 อาจารย์ประจำตำบลนัดประชุมออนไลน์ผ่านช่องทาง google meet เพื่อเตรียมการผลิตสินค้าของตำบลผไทรินทร์ ได้แก่ กระเทียมปรุงรสและกล้วยหนึบเพื่อนำไปวางจำหน่ายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในวันที่ 15–18 กันยายน 2565 โดยทีมผู้ปฏิบัติงานได้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบประจำบูธขายสินค้าประจำวัน วันละ 2 คน ดิฉันได้รับมอบหมายให้ไปอยู่ประจำบูธวันที่ 15 กันยายน 2565 นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งจากอาจารย์ประจำตำบลให้เตรียมความพร้อมในการผลิตสินค้าของตำบลเพื่อนำไปจำหน่ายที่จังหวัดขอนแก่น ณ เซ็นทรัลขอนแก่น

วันที่ 5-9 กันยายน 2565 ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในกิจกรรม ECT Week เนื่องจากได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำตำบลให้ไปติดต่อประสานงานกับกรรมการ ศส.ปชต. ณ ที่ทำการ ศส.ปชต. เพื่อสอบถามและพูดคุยประเด็นเกี่ยวกับ 1.บทบาทหน้าที่และการดำเนินงานของ ศส.ปชต. รวมถึงการขับเคลื่อนภารกิจและการสร้างเครือข่ายทำงานในพื้นที่ชุมชน พบว่ามีหน้าที่ให้ความรู้ ส่งเสริม และเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตย เช่น การรณรงค์ให้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง การต่อต้านพฤติกรรมทุจริต การสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองแก่ประชาชนให้เห็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและสังคม 2.การดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านมีความสอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตยหรือไม่ พบว่า มีความสอดคล้อง คือ ชาวบ้านให้ความร่วมมือและเข้าร่วมกิจกรรมที่ใช้สิทธิและเสรีภาพของตน เช่น การเลือกเข้าร่วมการเลือกตั้ง การเลือกคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นต้น การปฏิบัติตามกฎหมาย การฟังเสียงข้างมากเป็นหลักแต่ก็ยังรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย เคารพสิทธิและเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น 3.การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งทุกระดับ และลักษณะของผู้แทนทางการเมืองที่ประชาชนต้องการควรมีลักษณะอย่างไร พบว่า ประชาชาชนต้องการผู้แทนทางการเมืองที่มีลักษณะมีความน่าเชื่อถือ พูดเป็น การศึกษาสูง มีความรู้ความสามารถ พร้อมกับคุณธรรม ซื่อสัตย์ มีความคิดเปิดกว้างเป็นเหตุเป็นผล เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม สามารถนำหมู่บ้านให้พัฒนายิ่งขึ้น 4.การดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านมีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ พบว่า มีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านบางครัวเรือนปลูกผักกินในครัวเรือนและสามารถนำไปเป็นรายได้เสริมได้โดยการนำไปขายหลังเหลือจากการรับประทาน อีกทั้งยังใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อหรือฟุ่มเฟือยเกินรายรับที่ได้ 4.ปัญหาอุปสรรคในการลงพื้นที่ โดยรวมไม่มีอุปสรรคในการลงพื้นที่ มีฝนตกเพียงเล็กน้อยแต่ไม่มีปัญหาอะไร และ 5.ข้อเสนอแนะ จากการลงพื้นที่และสำรวจข้อมูลตามหมู่บ้านต่าง ๆ เมื่อรายงานสรุปผลการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้วนำส่งให้กรรมการและเลขานุการ ศส.ปชต. (ครู กศน.ตำบล)

สรุปผลจากการปฏิบัติงานและลงพื้นที่เก็บข้อมูล ในกิจกรรม ECT Week ได้ข้อสรุปว่า ชาวบ้านต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถ คุณธรรมมาเป็นผู้ดำเนินงานและบริหารเพื่อให้หมู่บ้านหรือชุมชนเกิดการพัฒนายิ่งขึ้น และจากการผลิตสินค้า พบว่า การทำกระเทียมปรุงรสผ่านไปด้วยดี ส่วนการทำกล้วยหนึบเกิดปัญหาเล็กน้อยแต่ผู้ปฏิบัติงานและอาจารย์ประจำตำบลสามารถแก้ปัญหาผ่านไปด้วยดี เตรียมพร้อมขายสินค้าผ่านตลาด แล้วคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ยอดขาย ต้นทุน กำไร และ ROI SROI ฯลฯ เพื่อทำ C-06 ต่อไป