หลักสูตร HS09-1 : โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)

ข้าพเจ้า นางสาววศินี สิงห์แก้ว ประเภทบัณฑิต เป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ จากกลุ่ม HS09-1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยดำเนินการลงพื้นที่และปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้

วันเริ่มงานวันแรก วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ได้เข้าร่วมงานพิธีเปิดตัวโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (โครงการ U2T for BCG) ในวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2565 ระหว่างเวลา 13.30 – 15.30 น. โดยการจัดถ่ายทอดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระบบ Zoom Meeting และมีการถ่ายทอดผ่าน Facebook live : MHESIThailand ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นการฟังรายละเอียดข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับโครงการเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจมากยิ่งขึ้น ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 อาจารย์ประจำตำบล คือ อาจารย์ฐิตาพรและอาจารย์นวิยา ได้นัดประชุม เวลา 14.30 น. เรื่องการลงพื้นที่เพื่อมอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้าไปสอบถามและเก็บข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีในพื้นที่ตำบล และในวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ดิฉันและทีมผู้ปฏิบัติงานอีก 7 คน ได้เดินทางไปยังพื้นที่ ต.ผไทรินทร์ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ทีมปฏิบัติงานร่วมกันลงพื้นที่เพื่อสอบถามและเก็บข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผลผลิตของชาวบ้านที่มีในชุมชน โดยการลงพื้นที่ ณ หมู่ที่ 16 บ้านโคกงิ้วใหม่ สอบถามคุณป้าทองนาค ชนะนาน เกี่ยวกับกระบวนการเพาะปลูก ช่วงฤดูในการเพาะและเก็บเกี่ยว ปริมาณผลผลิตที่ได้และการนำไปจำหน่ายของแต่ละครัวเรือน อีกทั้งยังสอบถามเกี่ยวกับความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแปลกใหม่ น่าสนใจมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ดิฉันและทีมผู้ปฏิบัติงานได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำตำบลร่วมกันทำงานแบบฟอร์ม C-01 (ข้อเสนอโครงการ) ซึ่งเป็นข้อเสนอโครงการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตำบล โดยได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำตำบลให้แบ่งทีมออกเป็น 2 กลุ่ม เนื่องจากแต่ละตำบลจะต้องรับผิดชอบทำผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 2 ชนิด/ตำบล ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากกระเทียมและกล้วย ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ได้เข้าร่วมรับฟังการปฐมนิเทศและข้อมูลที่สำคัญสำหรับการปฏิบัติงานในโครงการ เช่น การส่งงาน (Assignment) เป็นต้น ผ่านช่องทาง YouTube Live เวลา 9:00 น. และในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เข้าร่วมการอบรมวิธีการจัดเก็บ และกำกับตรวจสอบข้อมูล TCD เวลา 13.30 น. – 15.00 น. ผ่านช่องทาง Facebook Live: U2T Online Community เพื่อใช้เก็บข้อมูลของตำบล เช่น แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารในท้องถิ่น เป็นต้น

สรุปผลจากการลงพื้นที่เพื่อสอบถามและเก็บข้อมูลเบื้องต้น ได้ข้อสรุปว่า ชุมชนแต่ละครัวเรือนมีสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่กระเทียมและกล้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์จากกระเทียมขายสดโดยไม่ผ่านการแปรรูปเช่นเดียวกันกับผลิตภัณฑ์จากกล้วยแต่บางส่วนถูกนำไปแปรรูปเป็นกล้วยแขกหรือกล้วยฉาบ ซึ่งผู้ให้ข้อมูลมีความสนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกระเทียมให้เป็น “กระเทียมปรุงรสทอดกรอบ” ผลิตภัณฑ์จากกล้วยให้เป็น “กล้วยหนึบ” และเพิ่มรสชาติของผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายและแปลกใหม่ และยังเป็นกระบวนการ BCG ที่เกิดจากเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมไปถึงเศรษฐกิจสีเขียวอีกด้วย อีกทั้งยังสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้กับสินค้าในชุมชน เป็นการสร้างอาชีพสำหรับผู้ที่ต้องการเสริมรายได้ รวมถึงผู้ที่ว่างงาน