ข้าพเจ้านางสาวศันสนีย์ กองศักดิ์
ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลบ้านสิงห์
หลักสูตร: การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่
ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลประจำเดือนกรกฏาคม พ.ศ.2565
ในพื้นที่ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
วันศุกร์ที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ 2565 เวลา 13.00 น. ร่วมประชุมเปิดตัวโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG ผ่านระบบออนไลน์
เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัวโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน พร้อมกับ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผช.รมว.อว. พร้อมด้วยอธิการบดีและผู้บริหารของ อว. และมีผู้เข้าร่วมโครงการ U2T for BCG จำนวน 68,350 คน เข้าร่วม ซึ่งมีทั้งบัณฑิตจบใหม่และประชาชนที่จะลงไปทำงานกับชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเป็นรายตำบลใน 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ระบบเศรษฐกิจแบบ BCG จะเป็นฐานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัวขึ้นจากโควิด-19 แล้วเติบโตอย่างยั่งยืน โดย U2T for BCG จะขยายครอบคลุมไปถึง 7,435 ตำบล โดย อว.จะมุ่งนำกำลังของมหาวิทยาลัยทุกแห่งและสถาบันวิจัยไปทำงานร่วมกับพื้นที่ ทำให้เกิดชิ้นงานหรือเกิดสินค้าที่สามารถขายได้จริง มีคนอยากซื้อจริงและถ้าเป็นการบริการก็เป็นการบริการที่สามารถเอามาใช้งานได้จริง มีคนที่อยากจะรับบริการจริงโดยตั้งเป้าหมายว่าแต่ละตำบลจะมีสินค้าหรือชิ้นงานอย่างน้อยก็ตำบลละ 2 ชิ้น รวมแล้วประมาณ 15,000 ชิ้น ส่งผลให้มูลค่าต่างๆ จะขยายตัว ทให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมไปทั้งประเทศ
วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.00 น.ร่วมประชุมเลือกผลิตภัณฑ์ในการดำเนินโครงการ
เนื่องด้วยโครงการโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG ครั้งที่ 2 มีนโยบายมุ่งนำกำลังของมหาวิทยาลัยทุกแห่งและสถาบันวิจัยไปทำงานร่วมกับพื้นที่ ทำให้เกิดสินค้าที่สามารถขายได้จริงและมีคนอยากจะซื้อจริง ทางอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการและคณะผู้ปฏิบัติงานจึงได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตำบลบ้านสิงห์ว่ามีผลิตภัณฑ์ใดหรือวัตถุดิบอะไรที่สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดได้บ้าง จากการศึกษาข้อมูลพบว่า
-ในตำบลบ้านสิงห์มีการปลูกกล้วยเป็นจำนวนมาก ในบางช่วงมีการล้นตลาดทำให้ราคาตก ทางคณะผู้ปฏิบัติงานจึงได้มีแนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกล้วยให้แตกต่างจากเดิม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกทั้งยังเป็นการพัฒนาวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วยโดยนำกล้วยมาทำเป็น “แป้งกล้วยทอดกรอบ” ที่สามารถนำกล้วย มัน และเผือก มาชุปแล้วนำไปทอดให้สุกและทานได้ทันที
– ขนมประจำถิ่นที่มีเอกลักษณ์และชื่อเสียงอยู่แล้วคือขนมทองม้วน และในตำบลบ้านสิงห์มีการปลูกมันม่วงเป็นจำนวนมาก ทางคณะผู้ดำเนินงานจึงได้มีแนวคิดพัฒนาเป็น “ทองม้วนมันม่วง” ซึ่งเป็นการต่อยอดของขนมประจำถิ่น ให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน
และได้ร่วมกันคิดชื่อผลิตภัณฑ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของตำบลบ้านสิงห์ ซึ่งได้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “สิงห์คู่” ความหมายและที่มาคือในอดีตพื้นที่ในตำบลบ้านสิงห์จะมีสัญลักษณ์ประจำตำบลคือรูปปั้นสิงห์ตัวใหญ่ 2 ตัวอยู่คู่กันจึงเป็นที่มาของชื่อผลิตภัณฑ์
วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ 2565 เรียนบทเรียนออนไลน์เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ U2T BCG-learning
โดยผู้ปฏิบัติงานเข้าสู่บทเรียน “คัดสรร” คือ เข้าใจและเรียนรู้ BCG ผ่าน การคิดและกระบวนการ Hackathon เพื่อให้สามารถ วิเคราะห์ปัญหา ใช้เหตุผล แก้ปัญหา เชื่อมโยงให้บรรลุจุดมุ่งหมาย โดยมีเนื้อหาหลัก ๆ ดังนี้
-การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก้าวไกลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
-นวัตกรรมและแนวคิดเชิงออกแบบส่งเสริม BCG Economy
-การออกแบบคุณค่าธุรกิจสำหรับกลุ่มธุรกิจ BCG
-การออกแบบโมเดลธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดด
วันเสาร์ที่ 9 กรกฏาคม พ.ศ 2565 เวลา 13.30 น. อาจารย์อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการได้นัดหมายประชุมผ่าน Google meet เพื่อพูดคุยนัดหมายการลงพื้นที่ประจำเดือนกรกฏาคม
ในการประชุมได้มีการสรุปผลิตภัณฑ์ที่จะดำเนินการพัฒนาร่วมกับช้าวบ้านในตำบลบ้านสิงห์ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์
-แป้งกล้วยทอดกรอบ
-ทองม้วนมันม่วง
ชื่อผลิตภัณฑ์ ”สิงห์คู่”
2. แอดมินลงข้อมูลข้อเสนอโครงการ (C01) ในระบบ u2t
3. นัดหมายลงพื้นที่เพื่อทดลองทำผลิตภัณฑ์แป้งกล้วยทอดกรอบและทองม้วนมันม่วงในวันอาทิตย์ที่ 17 กรกฏาคม
วันที่ 17 กรกฏาคม พ.ศ 2565 เวลา 10.00 น. ลงพื้นที่เพื่อทดลองทำผลิตภัณฑ์แป้งกล้วยทอดกรอบ
เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์ “แป้งกล้วยทอดกรอบ” เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีชาวบ้านในตำบลทำผลิตภัณฑ์นี้อย่างจริงจังทางคณะผู้ปฏิบัติงานจึงได้มีการทดลองทำผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้มาตรฐานที่สามารถพัฒนาต่อไปจนสินค้ามีคุณภาพและสามารถจัดจำหน่ายได้
โดยมีวัตถุดิบในการทำแป้งกล้วยดังนี้
1. กล้วยดิบที่ไม่มีเมล็ดควรใช้กล้วยน้ำว้า เพราะปลูกกันแพร่หลาย ปริมาณมากและราคาถูก
2. เกลือ
3. มีด ที่หั่นอาหารเป็นชิ้นบาง ๆ เครื่องหั่นอาหาร
4. กะละมังสแตนเลส
5. เขียง
6. เครื่องชั่ง
7. หม้อ
8. กระด้ง (สำหรับตากกล้วย)
9. เครื่องบดของแห้ง
10. ตะแกรงร่อนแป้ง
11. ภาชนะบรรจุของแห้ง สําหรับบรรจุแป้งกล้วย
วิธีการทำแป้งกล้วยทอดกรอบ
1. นำกล้วยดิบมาปอกเปลือกแล้วแช่น้ำเกลือ
2. หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วนำไปตากให้แห้งสนิท
3. นำกล้วยที่แห้งสนิทแล้วมาบดละเอียดด้วยเครื่องบดของแห้ง
4. ใช้ตะแกรงร่อนแป้งกล้วยให้มีความละเอียดมากที่สุด
เมื่อทำแป้งกล้วยอบกรอบเสร็จได้ลองนำแป้งกล้วยไปทำมันม่วงชุปแป้งทอดโดยมีส่วนผสมดังนี้
1. แป้งกล้วย 120 กรัม
2. เกลือ 1 ช้อนชา
3. น้ำตาล 50 กรัม
4. น้ำกะทิ 80 กรัม
5. น้ำเปล่า 100 กรัม
6. ผงฟู ½ ช้อนชา
วิธีการทำมันม่วงทอดกรอบ
1. หั่นมันม่วงเป็นชิ้นพอดีคำ( แล้วแต่ความชอบ )
2. ผสมแป้งกล้วย เกลือ ผงฟู น้ำตาล กะทิ น้ำเปล่า แล้วคนให้เข้ากัน
3. นำมันม่วงที่หันแล้วมาชุบในแป้งที่เตรียมไว้
4. เตรียมกระทะและตั้งน้ำมันให้ร้อน
5. นำมันม่วงที่ชุบแป้งกล้วยลงไปทอดให้สุกพอเหลืองกรอบ
6. นำมันม่วงทอดกรอบที่สุกแล้วขึ้นพักน้ำมันพร้อมรับประทาน
วีดีโอการปฏิบัติงานประจำเดือน