ข้อมูลปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

เทศบาลตำบลเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

 

ปราชญ์ชาวบ้าน คนส่วนใหญ่มักคิดถึงองค์กรความรู้ หรือภูมิปัญญาที่มาจากชาวบ้านเป็นความรู้ที่ตกทอด มาจากบรรพบุรุษเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ ปรับตัวผ่านประสบการณ์ ที่สั่งสมพัฒนาและสืบทอดกันต่อมา เพื่อใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในการดำรงชีวิต ได้อย่างมีความสุข หลักแนวคิดและวิถีชีวิตของนักปราชญ์ เป็นสิ่งที่คนในยุคสมัย ปัจจุบันนี้ ควรได้เรียนรู้และนำไปเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต การนำภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในระดับบุคคลและชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี บรรพบุรุษของชาวไทยที่เป็นชนชาติ มีศิลปะ วัฒนธรรม จารีต ประเพณี ที่เก่าแก่สืบทอดกันมานานนับร้อยปีพันปีโดยบรรพบุรุษของชาวไทยได้มีความรู้ความสามารถด้านต่างๆถ่ายทอดให้คนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นโดยมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพื่อนำความรู้นั้นๆ มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมชุมชนท้องถิ่น ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น โดยความรู้ความสามารถเหล่านี้จะเรียกว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ปราชญ์ชาวบ้าน หมายถึง บุคคลในสังคม ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของภูมิปัญญาและนำภูมิปัญญามาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตจนประสบผลสำเร็จ จากการสั่งสมประสบการณ์และสามารถถ่ายทอด องค์ความรู้เชื่อมโยงคุณค่าภูมิปัญญาของอดีตกับปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน

กระผมนายศุทธวีร์ ประทุม ผู้ปฎิบัติงานU2Tตำบลเขาคอก ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงได้จัดทำทะเบียนปราชญ์ชาวบ้านในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลเขาคอก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการค้นหาผู้ที่มีความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นับวันจะเลือนหายจากท้องถิ่นไป จึงต้องมีการจัดทำทะเบียนปราชญ์ชาวบ้านเก็บไว้ให้ผู้ที่สนใจที่จะศึกษากับปราชญ์ชาวบ้านในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป

ปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรกรรม หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ทักษะ และเทคนิคด้าน การเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม ซึ่งคนสามารถพึ่งพาตนเองในสภาวการณ์ ต่างๆ ได้ เช่น การทําการเกษตรแบบผสมผสาน การแก้ปัญญา การเกษตร

ปราชญ์ชาวบ้านด้านหัตถกรรม หมายถึง การรู้จักประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภค
เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลผลิตเพื่อชะลอการนำเข้าตลาดอย่าง ปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรมอันเป็นกระบวนการให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองทาง
เศรษฐกิจได้ ตลอดทั้งการผลิตและการจัดจําหน่ายผลผลิตทางหัตถกรรม

ปราชญ์ชาวบ้านด้านจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งอนุรักษ์ การพัฒนา และใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

ประวัติปราชญ์ด้านการเกษตรผสมผสาน 


ชื่อ – สกุล นายกาสิน ประสงใด

อายุ 62 ปี

ที่อยู่ 207 หมู่13 ตำบลเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ 31140

ประวัติ ปัจจุบัน การทำเกษตรในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก จะเห็นได้จากหลายๆ ท่าน ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่น้อยมาสร้างสวนเกษตรให้กับตัวเอง อย่างเช่น นำพืชผักสวนครัวที่ใช้ประกอบอาหารมาปลูกพืชเอง เพื่อเป็นการช่วยประหยัดต้นทุนด้วยอีกช่องทาง ซึ่งการปลูกพืชนอกจากจะได้ผลผลิตแล้ว สิ่งที่ได้ตามมานั้นก็คือความสุข จึงทำให้เวลานี้ผู้ที่เกษียณจากงานประจำหันมาทำเกษตรมากขึ้น อย่างน้อยถ้าไม่ได้ทำเพื่อจำหน่าย หรือเกิดรายได้ถึงขนาดเลี้ยงตัวเองได้ แต่ก็ทำเป็นกิจกรรมยามว่าง สร้างความเพลิดเพลินและคลายเหงา

นายกาสิน ประสงใด อยู่บ้านเลขที่ 207 หมู่13 ตำบลเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เตรียมงานทางด้านการเกษตร โดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่ มาทำเกษตรหลังจากเกษียณงานข้าราชการออกมา ทำให้ในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้มีเวลาทำสวนมากขึ้น ทำให้ไม่เกิดความเครียด และมีพืชผักสวนครัวที่ปลูกเองไว้ประกอบอาหารในแต่ละวัน โดยที่ไม่ต้องออกไปยังแหล่งซื้อขายพบเจอผู้คนหนาแน่นเพื่อเป็นการสัมผัสเชื้อโควิด-19 คุณกาสิน เล่าให้ฟังว่า เป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมามีโอกาสได้รับราชการครูที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้สมรสกับนางสุดาภร ประสงใด จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านโนนสวรรค์ หมู่13 ตำบลเขาคอก จึงทำให้ในเรื่องของการทำเกษตรนั้นยังอยู่ในความคิดเสมอ เมื่อมีโอกาสใกล้จะเกษียณจากงานข้าราชการครู ได้เห็นพื้นที่สวนยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์มากนัก จึงได้เกิดแนวคิดที่อยากจะหาไม้ผลและพืชผักสวนครัวเข้ามาปลูก เพราะปล่อยให้เป็นพื้นที่ที่รกร้างมาถึง 20 ปี ทำให้เมื่อประมาณปลายปี 2562 จึงเป็นจุดเริ่มต้นนำพื้นที่บริเวณนั้นมาปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรไว้กินเอง และแจกจ่ายเพื่อนๆ หรือถ้ามีในปริมาณที่มากกว่านั้นก็จำหน่ายเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆ

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่อง เกษตรกรรมผสมผสาน

วิธีการเรียนรู้แนวความคิด

  • การประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเช่น การเกิดโรคระบาดในสัตว์ราคาซื้อขาย
  • เรียนรู้และลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและนำประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกฝนพัฒนาทักษะจนมีความชำนาญเป็นอาชีพหลักที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้

กิจกรรมช่วยเหลือสังคม

  • ให้ความรู้และส่งเสริมแก่ชาวบ้านและสมาชิกที่สนใจในเรื่องเกษตรกรรม

รางวัลประกาศเกียรติคุณที่เคยได้รับ –

 

ประวัติปราชญ์ชาวบ้านด้านการอุตสาหกรรมและหัตถกรรม

ชื่อ – สกุล นายสังวาลย์ สมพร

อายุ 53ปี

ที่อยู่  038 หมู่ 5 บ้านโนนสว่าง ตำบลเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ 31140

ประวัติ ที่อำเภอประโคนชัยเป็นแหล่งที่มีการหล่อพระพุทธรูปมาตั้งแต่โบราณสืบทอดกันมาในหมู่ช่างรุ่นต่อรุ่นแม้ว่าในปัจจุบันการหล่อพระแบบโบราณจะมีการทำกันน้อยมากในจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ยังมีช่างที่ยังทำหล่อ พระแบบโบราณอยู่บ้าง รวมถึงช่างรุ่นใหม่ที่ได้พัฒนาเทคนิควิธีการมาเป็นสูตรเฉพาะตัว คุณสังวาลย์ สมพร หรือช่างน้อย ปัจจุบันอายุเกือบ 53 ปี สามีของคุณนงลักษณ์ สมพร อยู่บ้านเลขที่ 038 หมู่ 5 บ้านโนนสว่าง ตำบลเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ในวัยหนุ่มคุณน้าสังวาลย์ทำงานเป็นลูกจ้างโรงหล่อพระที่กรุงเทพฯ เรียนรู้งานพัฒนาฝีมือจนชำนาญจึงออกมารับงานอิสระที่บ้านเกิดภรรยา จ.บุรีรัมย์ เป็นธุรกิจครัวเรือน มีลูกและญาติๆ ช่วยงานที่บ้าน สืบทอดงานหล่อพระแบบโบราณ โดยเฉพาะงานหล่อ

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่อง หล่อพระแบบโบราณ

วิธีการเรียนรู้แนวความคิด 

  • เรียนรู้จากการชอบของตัวเองและพยายามเรียนรู้ดูวิธีการจากผู้มีประสบการณ์ในตำบลฝึกฝนเรื่อยมาจนเกิดความชำนาญสามารถสร้างอาชีพเปิดร้านเป็นอาชีพหลักที่สามารถสร้างรายได้หลักให้กับตนเองและครอบครัวได้
  • ได้ศึกษาและเรียนรู้มาจากบ้านเรียนรู้มาจากบรรพบุรุษประกอบการตัดสินใจในด้านหัตถกรรมเป็นระยะเวลาหลายปีและถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนนักเรียนและผู้ที่สนใจในชุมชน

กิจกรรมช่วยเหลือสังคม 

  • ให้ความรู้และส่งเสริมแก่ชาวบ้านและสมาชิกที่สนใจในเรื่องการหล่อพระแบบโบราณ

ขั้นตอนการหล่อพระพุทธรูปแบบโบราณ

1.การปั้นหุ่น เมื่อได้กะเกณฑ์ขนาดของพระพุทธรูปที่จะสร้างแล้ว ก็ปั้นหุ่นชั้นในของพระพุทธรูป ดินเหนียวผสมทรายตามส่วน คือ ทรายสามส่วน ดินสองส่วน เรียกว่า “ดินแก่” (ในสมัยโบราณใช้แกลบผสมด้วย) ทรายต้องใช้ทรายละเอียด ส่วนดินควรบดหรือเสียก่อน แต่ดินที่นิยมใช้นั้นคือดินเหนียวสีเหลืองที่เรียกว่า “ดินขี้งูเหลือม” นวดผสมกับทรายละเอียด โดยการเหยียบให้เข้ากัน จากนั้นจึงเริ่มปั้นส่วนต่างๆ ขึ้นเป็นองค์พระ การเข้าดินสมัยก่อนเรียกว่าดินนวลคือดินเลนกับขี้วัว เพราะขี้วัวเนื้อละเอียดมากเมื่อ นำไปเข้ากับดินเผาออกมาแล้วเนื้อจะเนียนสวย ถ้าเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่อาจต้องปั้นแยกส่วนต่างๆ ของพระวรกายแยกกัน เช่น นิ้วพระหัตถ์ พระบาท พระกรรณ รัศมี เม็ดพระศก แล้วนำมาประกอบกันในภายหลัง แล้วตกแต่งพระองค์ทั้งด้านนอกและแกนในให้สวยงามตามแบบสมัยนิยม ส่วนพระพุทธรูปขนาดเล็กถ้าต้องการให้ได้จำนวนมาก วิธีถอดใช้พิมพ์ปูนซีเมนต์ถอดเป็นพิมพ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย การถอดพิมพ์ค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้นความเนียนความเรียบร้อยจะไม่สวยเหมือนงานสมัยใหม่ เพราะเป็นหลายชิ้นมาต่อกัน

2.การเข้าขี้ผึ้ง เมื่อขึ้นหุ่นชั้นในแล้ว ก็ใช้ขี้ผึ้งผสมกับซันเพื่อให้แข็ง มาตีแผ่ออกให้เป็นแผ่นหนาเท่ากับเนื้อทองที่ต้องการ เอาแผ่นขี้ผึ้งหุ้มรูปหุ่นที่ปั้นด้วยดินกับทรายชั้นในให้หมดทั้งองค์ ลงมือปั้นแต่งขี้ผึ้งให้ประณีต เพราะถ้าหุ่นขี้ผึ้งดีแล้วองค์พระก็จะดีไปด้วย

3.การเททอง ทําได้เมื่อสำรอกขี้ผึ้งออกไปหมดแล้ว เมื่อขี้ผึ้งละลายออกไป ภายในก็เหลือที่ว่างสำหรับน้ำทองจะได้แทรกเข้าไปอยู่แทนที่ ก่อนเทน้ำทองจะต้องอุดช่องที่สำรอกขี้ผึ้งออกด้วย มิฉะนั้นน้ำทองจะรั่วไหลหนีออกไปหมด การเททองจะต้องเดินขึ้นบนร้าน เททองจากเบ้ากรอกลงไปในช่องที่เตรียมไว้ และต้องเทระยะติดๆ กัน ช่องที่เตรียมไว้คือสายชนวนขี้ผึ้งซึ่งติดเอาไว้ก่อนแล้ว เมื่อไล่ขี้ผึ้งออกหมดแล้วจึงเหลือเป็นช่องอยู่ ช่องเหล่านี้จะเชื่อมต่อกันเป็นท่อสำหรับเทน้ำทองให้ไหลทั่วองค์พระ เมื่อเททองเสร็จแล้ว ทิ้งให้เย็น ก็แกะหุ่นพิมพ์ออกให้หมด ยกองค์พระตั้งขึ้นไว้อย่างเดิม เพราะตอนเททองเอาพระเศียรลงล่าง สมัยโบราณการเททองประชาชนจะนำเอาเข็มขัดนาก ต่างหู เครื่องประดับต่างๆ เครื่องใช้มาใส่เตาหลอม

4. การจัดแต่ง เริ่มขัดผิวให้เรียบ ตัดหมุดหรือสายชนวนออก หากมีตำหนิที่ไหนให้เอาเศษทองที่เหลือหรือทองสายชนวนตอกย้ำให้เสมอกัน หากเป็นรูโหว่มากจะต้องเททองเพิ่มให้เต็ม เรียกว่า เทดิบ เมื่อขัดเสร็จแล้ว อาจลงรักปิดทอง ใช้รักสนุก (คือรักผสมผงถ่านบดละเอียดปั้นไว้เป็นก้อนใช้เกรียงชนิด ปาด) ป้ายรักสนุกเข้ากับองค์พระให้เรียบทาให้ทั่ว ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วขัดด้วยหินอย่างละเอียดเพื่อให้เกลี้ยงเกลา จากนั้นก็ชโลมด้วย “รักน้ำเกลี้ยง” คืออย่างใสๆ อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นใช้ “รักเซ็ต” เพื่อปิดทองให้ทั่วองค์

5. การเบิกพระเนตร เป็นพิธีสุดท้าย โดยนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ บางแห่งใช้ช่างประดับมุกที่ดวงพระเนตรด้วย บางทีก็เอาเครื่องมือกรีดพระเนตร เป็นกิริยาของการเบิกพระเนตร ตามคติโบราณมองว่าเป็นอุบายที่ให้คนมาช่วยกันติชมพระพุทธรูปที่สร้างเสร็จแล้วนั่นเอง ช่างและผู้สร้างจะได้อิ่มอกอิ่มใจในผลสําเร็จอันนี้ จากนั้นนำไปประดิษฐานต่อไป