ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทอเสื่อกกในชุมชน ตำบลเขาคอก

ตำบลเขาคอกยังมีภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกอย่างหนึ่งที่เหมือนกันในหลายๆท้องถิ่น นั่นคือ “การทอเสื่อกกในชุมชน” ตำบลเขาคอกมีการทอเสื่อกกมานาน เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อกันมาหลายรุ่น จนมาถึงในปัจจุบันนี้ดิฉันได้ไปสำรวจสอบถามจาก นางประยุทธ แสงเพชร ได้ให้ข้อมูลว่า ตนรู้จักการทอเสื่อมาจากแม่ของตน เมื่อก่อนที่ยังไม่รู้จักกก ตนได้นำต้นผือมาทอเพื่อเป็นเสื่อนั่ง หลังจากนั้นได้รู้จักต้นกกและเปลี่ยนมาทอเสื่อกกแทนเนื่องจากมีความเหนียวกว่าต้นผือ และเริ่มทอเสื่อกกมานานจนตนสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้มากมาย และสามารถเพิ่มเป็นอาชีพให้กับตนเองได้มีรายได้

การทอเสื่อกก คือการที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอน หรือทำธุรกรรมต่างๆ ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ

เสื่อกก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะต้นกกเป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำต้นกกมาแปรสภาพก็มีลักษณะคล้ายกัน หรือได้อิทธิพลทางความคิดจากกันและกัน ทำให้เสื่อกกถูกจัดได้ว่าเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่งต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในอดีต

เสื่อในอดีต เป็นของใช้ที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับปูนั่ง หรือนอน จนถึงกับมีคำกล่าวว่าบ้านใดไม่มีเสื่อใช้ถือว่า พ่อ แม่ ลูก เกียจคร้านไม่มีฝีมือ หนุ่มสาวที่แต่งงานตั้งครอบครัวใหม่หรือขึ้นเรือนใหม่จะต้องเตรียมที่นอน หมอน มุ้ง ส่วนเสื่อฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมทอสะสมไว้เป็นของขึ้นเรือน นอกจากนี้ยังทอเพื่อถวายเป็นไทยทานให้กับวัด เพื่อบำรุงศาสนาในฤดูเทศกาลต่างๆ และยังนำเสื่อที่ทอไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย ส่วนในด้านการอนุรักษ์และถ่ายทอด ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวนโยบายของรัฐบาล ทำให้ชุมชนเล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาของท้องถิ่น มีการเชิญให้ผู้ประกอบการเป็นวิทยากรสอนให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป

 

ขั้นตอนหรือวิธีการที่สำคัญ มีดังนี้

  1. การปลูกกกหรือทำนากก นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัสดุในการทอเสื่อ โดยเตรียมที่ดินด้วยการไถ แล้วปักดำหัวกกลงในดินเหมือนการดำนาข้าว จากนั้นมีการบำรุงรักษาถอนหญ้า ใส่ปุ๋ย ปลูกแซม ด้วยเวลา 4-5 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้
  2. การตัดกกจะใช้มีดเล็กตัดเกือบถึงโคนต้นกก แล้วนำมากองเรียงเพื่อคัดแยกขนาด ตั้งแต่ความยาว 9 คืบ 8 คืบ เรียงลงมาจนถึง 4 คืบ จากนั้นนำแต่ละกองที่มีขนาดเท่ากันมัดเก็บไว้ด้วยกัน และตัดดอกทิ้งเพื่อทำการกรีดเป็นเส้น
  3. การกรีดจะใช้มีดปลายแหลมที่ทำมาจากใบเลื่อย กรีดแบ่งครึ่งกกแต่ละเส้น ถ้าเป็นต้นเล็กหรือเป็นต้นใหญ่ก็กรีดเหมือนกัน แต่จะมีส่วนที่กรีดทิ้งเพื่อให้แห้งง่าย
  4. หลังจากได้เส้นกกแล้วก็นำไปตากโดยแผ่วางเรียงเป็นแนวยาว วันแรกจะตากเต็มวันจากนั้นนำมามัดเป็นมัดเล็กๆแล้วตากอีกราว 2 วัน ให้เส้นกกนั้นแห้ง
  5. การย้อมสี นำกกที่ตากแห้งแล้วมามัดแช่น้ำ ราว 10 ชั่วโมง เพื่อให้เส้นกกนิ่ม จากนั้นต้มน้ำให้เดือดและใส่สีย้อม แล้วนำเส้นกกที่มัดเป็นกำแช่ลงไปในน้ำสีที่กำลังเดือด ทิ้งไว้ 10-15 นาทีจึงนำไปแช่น้ำ แล้วนำขึ้นตากในที่ร่มมีลมพัดผ่าน 3-4 วัน เมื่อเส้นกกสีแห้งก็สามารถนำไปใช้ในการทอได้
  6. การทอจะร้อยเส้นเอ็นกับฟืมเป็นเส้นยืนตามขนาดของคืบที่กำหนด แล้วใช้เส้นกกใส่กระสวยทอเรียงเป็นเส้นนอนคล้ายการทอผ้า การใส่ลายสีในการทอนิยมใส่ตอนแรกและตอนสุดท้ายของการทอเมื่อจะเต็มผืน
  7. เมื่อทอได้เต็มผืนก็มัดริมเสื่อ ตัดเสื่อออกจากกี่และตัดริมอีกครั้งพร้อมแต่งเสื่อให้มีความเรียบร้อยสวยงาม

มีดที่ใช้กรีดแบ่งครึ่งกก

กกที่ย้อมสีเสร็จแล้ว

ร้อยเส้นเอ็นกับฟืม

ใช้ไม้สอดเส้นกก

ทอเสื่อให้เต็มผืน

การทอเสื่อกก ก็เป็นเช่นเดียวกับการสร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ ด้วยภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่มีพืชชนิดนี้ขึ้นอยู่ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปทุกภูมิภาค จนยากที่จะระบุได้ว่าเสื่อผืนแรกของโลกถูกทอขึ้นเมื่อไร หรือชนชาติไหนเป็นชาติแรกที่ทอเสื่อขึ้นใช้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การทอเสื่อกกได้กลายเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นต่างๆ และได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบแปรรูปให้มีลักษณะต่างๆ และใช้นอกเหนือไปจากการปูนั่ง หรือนอน เช่นในอดีตที่ผ่านมา ส่วนการทอเสื่อกกของชาวบ้านตำบลเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ถูกจัดนับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของท้องถิ่นนี้ที่มีการทำและสืบทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นต่อมาอย่างสืบเนื่องยาวนาน จนการทอเสื่อกกกลายเป็นวิถีชีวิตในยามว่างจากงานเกษตรกรรมเพื่อทำขึ้นใช้เองในครัวเรือน และซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นรายได้เสริมให้กับครัวเรือน

 

ต้นกก

​ชื่อทางการค้า : กกราชินี, กกรังกา, กกลังกา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyperus involucratus Roxb.

ชื่อพ้อง : Cyperus alternifolius L.

ชื่อวงศ์ : CYPERACEAE

ชื่อสามัญ : Umbrella Plant

ชื่อท้องถิ่น : กกรังกา, หญ้ากก, กกกลม,

ถิ่นกำเนิด : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะพืช: ไม้ล้มลุก

ลักษณะทั่วไป : เป็นวัชพืชน้ำที่เจริญได้ดีในช่วงฤดูฝนมีลักษณะแตกกอ ลำต้นเหนียว เมื่อออกดอกปลายฤดูฝน เมล็ดก็จะร่วงลงดิน และจะเจริญในฤดูฝนปีต่อมา

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด แยกกอ

 

วิดิโอประจำเดือนสิงหาคม เรื่อง แผนการพัฒนาสินค้าและบริการ ตำบลเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์