“ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาประจำปีของชุมชนวัดบ้านเขว้า ตำบลปังกู”

สุวรรณา ผลวิเศษสิทธิ์

      ประเพณีแห่เทียนพรรษานั้น เนื่องจากสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้น เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน การนำเทียนไปถวายชาวบ้านมักจัดขบวนแห่กันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานและปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณี

     จากที่ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่ค้นหาข้อมูลของ ตำบลปังกู อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่าในตำบลปังกูมีทั้งหมด 14 หมู่บ้าน มีวัดประจำหมู่บ้านต่างๆ จะมีวัดบ้านเขว้าที่มี 4 หมู่รวมกัน คือ หมู่ 1,2,3 และ 13 (ปัจจุบัน หมู่ 13 ได้แยกออกไปเนื่องจากมีวัดแล้ว) จึงทำให้ชุมชนวัดบ้านเขว้านั้นมีการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ใหญ่ที่สุดในตำบล

คำบอกเล่าของมัคคทายกและคณะกรรมการวัดบ้านเขว้า เล่าว่าการจัดประเพณีแห่เทียนพรรษานี้มีมานานมากแล้ว เป็นเพียงการนำเทียนต้นใหญ่ไปถวายวัดเท่านั้น แต่ขบวนแห่เทียนพรรษาที่ได้เลียนแบบอย่างจากงานแห่เทียนพรรษาประอำเภอ เดิมทีเป็นการคิดกันเอง ไม่มีงบประมาณสนับสนุน เป็นเงินที่ร่วมกันบริจาคทำบุญของชาวบ้านทั้ง 4หมู่ ที่มาทำบุญวันอาสาฬหบูชาในวัด จึงได้มีการประชุมหารือกันเกี่ยวกับการจัดขบวนแห่เทียนพรรษา โดยรวมความผูกพันของชุมชน ตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียนเอามาหล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน ช่วยกันทำขบวนและการร่วมขบวนแห่รอบหมู่บ้านของคนในชุมชน เมื่อปีพ.ศ.2550 ชุมชนได้รับงบบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลปังกูเข้ามาช่วยสนับสนุน จึงมีการจัดทำขบวนต้นเทียนพรรษา ขบวนนักษัตรประจำปี ขบวนสวยงาม ขบวนแห่ฟ้อนรำรื่นเริงต่างๆ ถึงจะมีงบประมาณเข้ามาช่วยสนับสนุนแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังร่วมแรงร่วมใจทำให้งานประเพณีนี้ยิ่งใหญ่จนถึงปัจจุบัน

งานแห่เทียนพรรษา เป็นงานที่ทำให้คนทุกเพศทุกวัยได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสัมผัส กับศิลปวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ ในการแกะสลักทำลวดลายต้นเทียน ค้นคว้าหาวิธีการทำเทียนพรรษาให้วิจิตร งดงาม การเข้าร่วมในขบวนแห่ ซึ่งคาดหวังได้ว่า ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น จะสืบทอดต่อไปอีกยาวไกล

ภาพกิจกรรม ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 65 ของชุมชนวัดบ้านเขว้า ตำบลปังกู โดยมีผู้นำชุมชนและชาวบ้านนำขบวนแห่เทียนพรรษาเดินรอบหมู่บ้าน และนำเทียนมาถวายที่วัดบ้านเขว้า