ชื่อบทความ : ย้อมสีผ้าฝ้ายจากใบแสลงและใบสบู่เลือด ในตำบลแสลงโทน
ชื่อหมู่บ้าน : บ้านแสลงโทน ต.แสลงโทน อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
ชื่อเจ้าของบทความ : นางกองแก้ว คันธจันทร์
โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ รับผิดชอบตำบลแสลงโทน อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีโครงการเดิม “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ๑ มหาวิทยาลัย ๑ ตำบล (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ” ได้มีการจัดทำโครงการเกี่ยวการพัฒนาลวดลายผ้าทอมือ และเสื่อกก
ผ้าทอมือ เป็นผ้าทอพื้นบ้านของไทยส่วนใหญ่จะใช้เส้นใยจากธรรมชาติทั้งฝ้ายและไหม ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชื่นชมและหลงไหลเสน่ห์ผ้าทอมือของไทย ดังเห็นได้จากการแสดงแฟชั่นโชว์ ผ้าทอพื้นเมืองไทยในภาคต่างๆ การแสดงผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือภาคต่างๆ มีผู้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยทั่วไป การทำผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือเป็นงานที่ใช้ฝีมือในการทำ เพราะส่วนใหญ่จะใช้เศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บเสื้อผ้า หรือผ้าที่เหลือจากการใช้ประโยชน์อื่นๆมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าผ้าใยสังเคราะห์ แต่บางท้องถิ่น เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ผ้าฝ้ายทอมือเป็นที่นิยมทำผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าฝ้ายทอมือเนื้อหนาไว้บุเก้าอี้ ผ้าไหมทอมือ นำมาทำเป็นผ้าม่าน หมอนจากผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ เป็นต้น
การเตรียมน้ำย้อม
1. อุปกรณ์ที่ใช้ในการย้อม
(1) หม้อย้อมควรใช้หม้อสแตนเลส หม้อเคลือบ หรือกระทะใบบัว ไม่ควรใช้หม้ออะลูมิเนียม และควรเลือกขนาดหม้อให้เหมาะสมกับการย้อมผ้า หรือเส้นด้าย
(2) ไม้กวนผ้า โดยไม้ควรมีขนาดใหญ่พอที่จะรับน้ำหนักเส้นด้ายเส้นเปียกในหม้อย้อมได้
(3) ห่วงที่ทำจากสแตนเลส หรือท่อพลาสติกอ่อน ไว้สำหรับแขวน หรือคล้องเส้นไหม/เส้นฝ้าย
(4) ถุงมือยาง เทอร์โมมิเตอร์ เขียง มีด ครก (สำหรับตำครั่ง) ราว (สำหรับตาก)
(5) กะละมัง หรือถังพลาสติก สำหรับล้างผ้า หรือเส้นด้ายก่อนย้อมและหลังย้อม
(6) เตาไฟจะเป็นเตาฟืน หรือเตาแก๊สก็ได้
พืชที่ให้สีและสามารถนำมาผลิตสีเพื่อการย้อมนี้ มีได้ตั้งแต่ต้นหญ้าไปจนถึงต้นไม้ขนาดใหญ่และทุกส่วนของพืช ได้แก่ ใบ ดอก ผล ลำต้น เปลือก แก่น ราก หัวหรือเหง้าในดิน ซึ่งแต่ละชนิด แต่ละส่วนของพืชจะให้สีสันที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความอ่อน แก่ สด แห้ง ช่วงเวลา เดือน และฤดูกาลที่เก็บด้วย พืชที่ให้สีติดเส้นฝ้ายดีนั้นมักเป็นพืชที่ให้รสฝาด เพราะความฝาดจะมีฤทธิ์เป็นด่าง ข้อสังเกตง่ายๆ ของพืชที่ให้รสฝาด คือ ใบหรือดอกที่ถูกขยี้จะมียางติดมือ ถ้าเป็นผลหรือเปลือก หากใช้มีดขูดจะมียางออกมา ซึ่งเมื่อถูกกับอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ปริมาณของวัตถุดิบที่ต้องการสกัดสี ในส่วนตำบลแสลงโทนจะย้อมจากใบแสลงและใบสบู่เลือด
2. ปริมาณของวัตถุดิบที่ต้องการสกัดสี
– กรณีที่ใช้วัตถุดิบให้สีเป็นใบไม้ จะใช้ใบไม้จำนวน 5 กิโลกรัมต่อฝ้าย/ ไหม 1 กิโลกรัม
– กรณีที่ใช้วัตถุดิบให้สีเป็นเปลือกไม้ จะใช้เปลือกไม้จำนวน 3 กิโลกรัมต่อฝ้าย/ ไหม 1 กิโลกรัม
การย้อมสี
การย้อมสีมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
(1) นำน้ำย้อมที่ผ่านการกรองแล้ว มาตั้งไฟปานกลาง พอร้อนมีควันไม่ถึงกับเดือด ใส่สารช่วยย้อมสีอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องการ โดยการทดลองสีกันก่อน หากต้องการสารช่วยย้อมอย่างใดอย่างหนึ่งจึงลือกใส่ลงไปพร้อมน้ำย้อมที่ได้ โดยปริมาณการใช้สารช่วยย้อม มีดังนี้
– ถ้าต้องการใช้น้ำปูน เป็นสารช่วยย้อม จะใช้ปริมาณ 1/2 ขัน ต่อเส้นด้ายที่จะย้อม 1 กิโลกรัม
– ถ้าต้องการใช้น้ำด่าง เป็นสารช่วยย้อม จะใช้ปริมาณ 2 ขัน ต่อเส้นด้ายที่จะย้อม 1 กิโลกรัม
– ถ้าต้องการใช้สารส้ม เป็นสารช่วยย้อม จะใช้ปริมาณ 50 กรัม ต่อเส้นด้ายที่จะย้อม 1 กิโลกรัม
(2) นำเส้นด้ายที่จะย้อม ที่เตรียมไว้ (ทำความสะอาดแล้ว) ลงย้อมในน้ำสีนานประมาณ 1 ชั่วโมง ต้องหมั่นพลิกเส้นด้ายให้ถูกน้ำย้อมเสมอกันทุกๆ 10 นาที
(3) นำเส้นด้ายขึ้นผึ่งให้เย็น
– ถ้าเป็นเส้นฝ้าย/ผ้าฝ้าย ให้นำใส่ถุงพลาสติกปิดให้แน่นหมักไว้ 1 คืนก่อนแล้วค่อยเอาออกมาซักด้วยน้ำเปล่าจนน้ำที่ล้างนั้นใส
– ถ้าเป็นเส้นไหม เมื่อผึ่งให้แห้งแล้วซักด้วยน้ำเปล่าจนน้ำที่ล้างนั้นใส
(4) บิดเส้นด้ายที่ล้างสะอาดแล้วให้หมาด กระตุกให้ตึง 2-3 ครั้ว แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มจนแห้ง ถ้ายังไม่ทอควรนำไปเก็บไว้ในถุงเพื่อไม่ให้ฝุ่นเกาะและป้องกันสีซีด
การใช้สารช่วยย้อมหลังการย้อมสี โดยนำเส้นด้ายไปย้อมสีก่อน แล้วจึงนำไปย้อมกับสารช่วยย้อมภายหลัง วิธีการนี้จะช่วยทำให้เกิดเฉดสีใหม่ขึ้น โดยมีขั้นตอน คือ
– นำเส้นด้าย/ผ้า ที่ผ่านการย้อมสีที่บิดให้หมาดแล้วกระตุก 2-3 ครั้ง จึงนำมาขยำในน้ำสารช่วยย้อม เวลาใช้ขึ้นอยู่กับว่าต้องการสีเข้มหรือสีจาง โดยทั่วไปประมาณ 15-30 นาที แต่ถ้าเป็นแทนนินจากพืชจะใช้เวลาน้อย เช่น การย้อมฝางแล้วนำมาย้อมต่อในน้ำผลมะเกลือจะใช้เวลาประมาณ 1 นาที จะเปลี่ยนจากสีชมพูเป็นสหีบานเย็นนานกว่านี้จะเป็นสีมืด
– บิด เส้นด้าย/ผ้า ให้หมาดกระตุก 2-3 ครั้ง แล้วผึ่งให้แห้ง
– นำ เส้นด้าย/ผ้า ที่ผึ่งแห้งแล้วมาซักในน้ำสะอาดจนน้ำใส แล้วนำไปสะบัดโดยใช้แขนสองข้างดึงเส้นด้ายแล้วกระตุก 2-3 ครั้ง นำไปตากในที่ร่ม (เส้นไหม) หรือกลางแดด (เส้นฝ้าย)
การย้อมซ้ำ ถ้าสีที่ย้อมเสร็จแล้วยังได้สีที่จางหรือมีรอยด่างเนื่องจากสีติดไม่เสมอกัน สามารถแก้ไขได้โดยนำไปย้อมซ้ำสีเดิม ก็จะได้สีที่เข้มและมีความคงทนมากขึ้น หรือจะเปลี่ยนเป็นสีอื่นย้อมทับกันก็ได้จะให้สีใหม่ที่แปลกตา ซึ่งการย้อมสีธรรมชาติให้สวยงามในแต่ละสีนั้น บางครั้งจะต้องผ่านการทดลองย้อมนับครั้งไม่ถ้วน และผู้ย้อมต้องเป็นคนช่างสังเกต ควรจดบันทึกข้อมูล และเก็บตัวอย่างการย้อมไว้ทุกครั้ง เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในครั้งต่อไป เมื่อได้ผ้าที่ย้อมสีตามความต้องการแล้วสามารถนำไปทดสอบหาความทนต่อแสงอย่างง่ายๆ ด้วยการตัดตัวอย่างผ้าชิ้นเล็กๆ นำวัสดุทึบแสงมาปิดผ้าตัวอย่างครึ่งหนึ่งแล้วนำไปวางแตกแดด 7 วัน นำผ้าที่โดนแสงมาเปรียบเทียบกับผ้าที่ไม่โดนแสง ถ้าผ้าที่โดนแดดสีซีดน้อยมากหรือแทบสังเกตไม่ออก แสดงว่า สีที่ได้จากต้นไม้ชนิดนี้และวิธีการย้อมใช้ได้ แต่ถ้าสีซีดมากแสดงว่า ต้นไม้หรือวิธีการย้อมไม่เหมาะสม ต้องทดลองและปรับปรุงให้มีคุณภาพตามความต้องการต่อไป
วิธีการหมักโคลน มีขั้นตอน คือ
(1) นำเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ที่ย้อมสีแล้ว มาแช่น้ำให้ชุ่มแล้วบิดน้ำออกให้หมด กระตุกให้ไหม/ฝ้ายเรียงเส้น (ถ้าเป็นชิ้นผ้าก็ต้องสะบัดให้เรียบ)
(2) กวนโคลน (ที่ได้กรองเอาสิ่งแปลกปลอมออกให้เหลือแต่ดินโคลนเหลวๆ) ให้เข้ากัน นำเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ลงย้อมในน้ำโคลน โดยขยำให้ทั่วเพื่อให้เส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า สัมผัสน้ำโคลนได้ทั่วถึง ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยให้กลับเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ทุก 10 นาที ครบเวลาจึงนำเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ขึ้นจากน้ำโคลน
(3) ล้าง เส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ให้สะอาด บิดให้หมาด แล้วกระตุกให้ไหม/ฝ้ายเรียงเส้น ผึ่งให้แห้งเ หากต้องการห้ได้สีที่เข้มขึ้น ให้นำเส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ไปผึ่งกลางแดดจนแห้ง
(4) นำ เส้นไหม/เส้นฝ้าย/ผ้า ไปล้างในน้ำสะอาด แล้วกระตุกเส้นไหม/เส้นฝ้ายให้เรียงเส้น ผึ่งให้แห้ง