1. ข้าพเจ้านางสาว ปิยวดี เมืองสิทธิ์ กลุ่มประชาชนทั่วไป

.ละเวี้ย .ประโคนชัย .บุรีรัมย์

 โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ตำบลละเวี้ย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่สำรวจการปลูกบอนสี  ที่กำลังเป็นที่นิยมในวงการไม้ดอกไม้ประดับ เรามาทำความรู้จักกันเลยค่ะ บอนสี เป็นไม้ประดับที่ได้รับความยกย่องให้เป็นราชินีแห่งใบไม้

ความสวยงามที่โดดเด่นและเตะตาทำให้บอนสีกลายเป็นต้นไม้อีกหนึ่งชนิดที่คนนิยมนำมาปลูกจัดสวนและตกแต่งบ้าน แถมยังสามารถเพาะพันธุ์ขายหารายได้เพิ่มได้อีกด้วย ต้นบอนสีมีทั้งลักษณะทั่วไป ความหมาย จุดสังเกตบอนสีที่ดี ไปจนถึงวิธีการปลูกบอนสีในกระถางและปลูกลงแปลงเพื่อขยายพันธุ์ พร้อมการดูแล

ประเภทบอนสี

บอนใบไทย (Thai-Native Leaf Caladium) : บอนสีไทยโบราณ ลักษณะใบเป็นรูปหัวใจ หูใบยาว เว้าลึกเกือบถึงสะดือ (ส่วนปลายก้านใบที่จรดกับเส้นกลางใบ) ก้านใบอยู่กึ่งกลางใบ มีทั้งปลายใบแหลมและปลายใบมนขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ใบแผ่กว้าง มีขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม ใบดกและไม่ทิ้งใบ

บอนใบกลม (Round-Leaf Caladium) : สายพันธุ์บอนสีที่พัฒนามาจากบอนใบไทย ลักษณะใบกลมหรือรี หูใบสั้นปลายใบมน และก้านใบกลมอยู่กึ่งกลางใบ คล้ายกับใบบัว

บอนใบยาว (Long- Leaf Caladium) : ลักษณะใบทรงหัวใจคล้ายกับบอนใบไทยเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่ใบของบอนสีใบยาวจะเรียวยาวและมีปลายใบแหลมกว่า หูใบยาวฉีกถึงสะดือ และสามารถแยกได้อีก 3 ลักษณะย่อยคือบอนใบยาวธรรมดา บอนใบยาวรูปหอก และบอนใบยาวรูปใบไผ่


บอนใบกาบ (Sheath-Leaf Caladium) : ลักษณะคล้ายกับบอนใบไทย แต่บอนใบกาบจะมีก้านใบที่แผ่แบนตั้งแต่โคนใบไปถึงแข้ง (ใบขนาดเล็กที่ยื่นออกจากกาบใบ อยู่กึ่งกลางของก้านหรือต่ำกว่าใบจริงเล็กน้อย)      

สำหรับต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์บอนสี ควรเป็นต้นบอนสีขนาดใหญ่ อายุ 10 เดือนขึ้นไป และมีความสมบูรณ์เต็มที่ โดยทำการขุดหัวบอนเมื่อต้นทิ้งใบ แล้วนำมาทำความสะอาด เก็บไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีแสงแดด ทิ้งไว้ประมาณ3 เดือน ก่อนจะนำมาเพาะอีกครั้งช่วงเข้าฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤษภาคม

วิธีขยายพันธุ์บอนสี

แยกหน่อ : การแบ่งหน่อของต้นบอนสีจากต้นแม่ สามารถทำได้เมื่อต้นมีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยใช้มีดตัดเอาหน่อจากต้นเดิมมาแยกปลูกในกระถางใหม่

การผ่าหัว : วิธีขยายพันธุ์บอนสีที่นิยมมากที่สุด โดยการนำหัวที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี มาผ่าให้ติดตา แล้วนำไปชำในทรายหยาบสะอาด อิฐมอญทุบละเอียด ขุยมะหร้าว หรือแกลบดำ จากนั้นรดด้วยน้ำยาป้องกันเชื้อรา นำไปผึ่งไว้ในที่ร่ม เมื่อหน่อแตกรากและผลิใบประมาณ 1-2 ใบ ค่อยย้ายไปปลูกในกระถาง

เพาะเมล็ด : ส่วนมากจะใช้เพาะเมล็ดบอนสีเมื่อต้องการผลิตลูกผสม โดยหว่านเมล็ดลงในกระบะปลูก ตั้งกระบะในที่ที่มีแดดรำไรและคลุมด้วยถุงพลาสติก เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันมดแมลงมารบกวน แต่เป็นวิธีที่ใช้เวลานาน จึงไม่ค่อยนิยมเท่าไรนัก

เรียกได้ว่าความสวยที่เป็นเอกลักษณ์บวกกับความหมายของ บอนสี สมตำแหน่งราชินีแห่งไม้ประดับมากจริง ถ้าใครจะหามาปลูกที่บ้านหรือเพาะขายก็อย่าลืมศึกษาข้อมูลการปลูกด้วยนะคะ เพราะหากดูแลถูกวิธีก็จะช่วยให้ต้นบอนสีมีสีและลวดลายของใบแปลกตา ทรงสวย ปลูกประดับเสริมสิริมงคลก็ดี หรือปลูกเพาะขายเสริมรายได้ก็ได้

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ตำบลละเวี้ย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ให้ความร่วมมือในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานในครั้งนี้ และขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ที่ได้มีโครงการดี จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ