“ใบหม่อน”ของดีที่มีในโคกเหล็ก

ปรียาภรณ์ จันทะคำมา

         ใบหม่อน หรือที่คนไทยเชื้อสายเขมรเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เคลอะมวน พบได้มากในตำบลโคกเหล็ก โดยช่วงฤดูที่เหมาะกับการปลูกต้นหม่อนที่สุดคือช่วงระหว่างต้นฤดูฝนปลายเดือนเมษาถึงต้นเดือนพฤษภาคมหรือตามสภาพของฝนในแต่ละท้องถิ่นเมื่อถึงฤดูแล้งของปีต่อไปหม่อนจะไม่ตาย แต่ถ้าปลูกในช่วงปลายฤดูฝนมากเกินไป อาจทำให้ต้นหม่อนตายได้

        ในอดีต การปลูกหม่อนมุ่งเน้นไปที่การเก็บใบหม่อนไปเลี้ยงไหม ต่อมาได้มีการวิจัยและพัฒนางานวิจัยการแปรรูปหม่อนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ นอกเหนือไปจากการเลี้ยงไหม เช่น ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานเล่นเป็นผลไม้ได้ และยังนิยมนำใบมาตากแห้ง และชงดื่มเป็นน้ำชาใบหม่อน ซึ่งจะให้กลิ่นหอมมีเอกลักษณ์ นอกจากรสชาติที่ดีแล้ว ยังให้คุณประโยชน์ดีๆต่อร่างกาย แถบยังสามารถหาได้ง่ายจากข้างบ้านหรือในสวน ชาใบหม่อนยังมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด และยังช่วยลดความดันโลหิต และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นช้าที่กับคนที่ต้องการจะดูแลสุขภาพของตัวเองแบบไม่อยากเสียเงินมากมายซื้อชาราคาแพงๆมาชงกิน เพราะเป็นชาที่หาได้ง่ายๆจากสวนหลังบ้าน อร่อย ประหยัด มีประโยชน์

       นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังในการดื่มชา เนื่องจากใบหม่อนมีสารที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้นในผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ย่อยน้ำตาล เช่น ยา Acarbose ควรระมัดระวังการใช้ใบหม่อนร่วมกับยาในกลุ่มนี้ เพราะสารในใบหม่อนอาจเสริมฤทธิ์ยาและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้    อย่างไรก็ตาม ไม่ควรดื่มชาใบหม่อนต่อเนื่องนาน ๆ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าหากรับประทานใบหม่อนนาน ๆ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือเปล่า ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีควรดื่มชาใบหม่อนแต่พอเหมาะและกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วยนะคะ