โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) จากการที่กระผมได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลในตำบลท่าม่วง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่ามีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ 1.ปลานิลแดดเดียวสูตรดั้งเดิมและสูตรกะทินมสด 2.น้ำพริกเผาจากหัวปลานิลสูตรเสริมแคลเซียม 3.อาหารเลี้ยงปลานิลต้นทุนต่ำ กลุ่มของพวกกระผมเล็งเห็นถึงแนวทางการพัฒนาจึงได้เลือกปลานิล เพื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว

           ปลา เป็นเนื้อสัตว์ที่คนไทยนิยมนำมารับประทาน เพราะบ้านเรือนแต่ก่อนติดแม่น้ำลำคลอง ทำให้หาทานได้ง่าย ซึ่งจากการที่หาปลามาได้จำนวนมาก แต่ทานไม่หมด คนในสมัยก่อนจึงได้หากรรมวิธีในการถนอมเนื้อปลา เพื่อให้เก็บรักษาได้นาน ไว้ทำเป็นอาหารในวันถัดไป จึงได้นำปลาไปดองเค็มแล้วตากแดด จนกลายเป็น ปลาแดดเดียว ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ก็คือ เกลือ ในการดองเค็ม เพราะจะช่วยป้องกันการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์หรือแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย ทำให้เก็บรักษาเนื้อปลาได้นาน โดยปลาที่นิยมนำมาทำปลาแดดเดียวส่วนใหญ่จะเป็นปลาตัวเล็กๆ มีความหนาไม่มาก เช่น ปลากระดี่ ปลาหมอ ปลาสลิด

           สำหรับการนำปลาแดดเดียวมารับประทาน ส่วนใหญ่จะนำมาทอดก่อนแล้วจึงรับประทาน เป็นเมนูเสริมกับอาหารอื่นๆ มากกว่า เช่น รับประทานกับข้าวต้ม เป็นต้น เพราะมีความเค็มมาก จึงอาจไม่เหมาะ หากจะทานเป็นกับข้าวจานหลัก โดยผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงในการรับประทาน เนื่องจากปลาเค็มมีปริมาณเกลือโซเดียมเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้

          ดังนั้นปลานิลแดดเดียว วัตถุดิบธรรมดาที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับหลายคน ในช่วงโควิด 19 พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยวิธีทำที่ง่าย สามารถทำที่บ้านได้ จึงอาจเป็นทางรอดของใครหลายคนที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่สิ้นสุด